วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 4 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

    

     ศาสนาฮินดู (อังกฤษ: Hinduism) เป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยมที่พัฒนาการต่อมาจากศาสนาพราหมณ์ จึงมักเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นศาสดา มีคัมภีร์ศาสนาเรียกว่าพระเวท มีศาสนิกชนมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีจำนวนประมาณ 900 ล้านคนศาสนานี้นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เรียกว่า "พหุเทวนิยม" เทพเจ้าแต่ละองค์ในแต่ละยุคสมัย มีบทบาท และตำนานต่างกันไป ในแต่ละท้องถิ่นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์หนึ่งๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยทั่วไปถือว่าชาวฮินดูเชื่อว่ามีเทพเจ้าสูงสุด ที่ได้อวตารแยกร่างออกมาเป็น 3 องค์ เรียกว่า "ตรีมูรติ" คือ พระพรหมซึ่งเป็นพระผู้สร้างโลก พระศิวะเป็นผู้ทำลาย และพระวิษณุเป็นผู้ปกป้องและรักษาโลก




      ตรีมูรติ มาจากคำว่า ตรี หมายถึงสาม และคำว่า มูรติ หมายถึงรูปแบบ ดังนั้นคำว่า ตรีมูรติ จึงหมายถึง รูปแบบของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ประกอบด้วย พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ เป็นหนึ่งในลัทธิที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ หากมองตามหลักปรัชญาคือ พระผู้สร้าง พระผู้รักษา และพระผู้ทำลาย เปรียบได้กับหลักธรรมที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป


พระพรหม+พระวิษณุ+พระศิวะ = พระทัตตาเตรยะ = พระตรีมูรติ


      การกำเนิด "พระตรีมูรติ" ก็มีกล่าวกันไว้หลายตำแหน่งต่างๆกัน และมักจะเข้าใจว่าพระตรีมูรติเป็นภาครวมทั้งสามพระองค์ในร่างเดียวกัน เรียกว่า ทัตตาเตรยะ (Dattatreya) คำว่า ทัตตา (Datta) หมายถึง การมอบให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ส่วนคำว่า เตรยะ (treya) หมายถึง ผู้เป็นบุตรแห่งฤาษีอัตริหรือเตรยะ อันเป็นอวตารของมหาเทพทั้งสามพระองค์ 

    
      ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในตอนแรกเริ่มเรียกตัวเองว่า ”พราหมณ์” ต่อมาศาสนาได้เสื่อมความนิยมลงระยะหนึ่งเนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพุทธ จนมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ศังกราจารย์ได้ปฏิรูปศาสนาโดยแต่งคัมภีร์ปุราณะลดความสำคัญของศาสนาพุทธ และนำหลักปฏิบัติรวมทั้งหลักธรรมของศาสนาพุทธบางส่วนมาใช้และฟื้นฟูปรับปรุงศาสนาพราหมณ์เป็นให้เป็นศาสนาฮินดู โดยคำว่า “ฮินดู” เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุ และเป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสมของชาวอารยันกับชาวพื้นเมืองในชมพูทวีป และชนพื้นเมืองนี้ได้พัฒนาศาสนาพราหมณ์โดยการเพิ่มเติมเทพเจ้าท้องถิ่นดั้งเดิมลงไป เนื่องจากเวลานั้นสังคมอินเดีย แตกแยกอย่างมากเนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียที่มีลักษณะเป็นกึ่งพหุเทวนิยม คือนิยมนับถือเทวดา ทำให้ทางตอนเหนือนับถือพระศิวะซึ่งเป็นเทพแห่งภูเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ชาวประมงนับถือวิษณุซึ่งเป็นเทพที่ให้ฝนและพายุ ชาวป่านับถือพระนิรุทธ และตอนกลางนับถือพระพิฆเนตร คนอินเดียเวลานั้นเริ่มไม่นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อต้องการรวมชาติ เมื่อครั้งขับไล่ราชวงศ์โมกุลของอิสลามที่เข้ามายึดครองและสั่งเข่นฆ่าพระสงฆ์คัมภีร์และวัดในพระพุทธศาสนาจนแทบสูญสิ้นไปจากอินเดีย จึงรวมเทพเจ้าแต่ละท้องถิ่นต่างๆมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับศาสนาพราหมณ์ แลัวเรียกศาสนาของใหม่นี้ว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะฉะนั้นศาสนาพราหมณ์จึงมีอีก ชื่อในศาสนาใหม่ว่า “ฮินดู” จนถึงปัจจุบันนี้
       พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมพราหมณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าและพุทธสาวกสมัยแรก ๆ ก็เคยนับถือศาสนาพราหมณ์หรือเคยเกี่ยวข้องกับวรรณะพราหมณ์มาก่อน และในนิทานชาดก และเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธและพระพุทธเจ้า ก็มักจะมีพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงกล่าวได้ว่า ศาสนาพุทธและพราหมณ์ จึงมีอิทธิพลต่อกันและกัน
      ในศาสนาพราหมณ์  คำว่า พราหมณ์ หมายถึง คนในวรรณะที่สูงที่สุดของสังคมอินเดีย มีหน้าที่สอนความรู้เกี่ยวกับพระเวทและทำหน้าที่ติดต่อเทพเจ้า ผู้ที่เป็นพราหมณ์เป็นโดยกำเนิด คือบุตรของพราหมณ์ก็จะมีสถานภาพเป็นพราหมณ์ด้วย


หลักคำสอนสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


     ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักธรรมสำคัญ ๆ ดังนี้    
  1. หลักธรรม 10 ประการ
          1.1 ธฤติ ได้แก่ ความพอใจ ความกล้า ความมั่นคง ซึ่งหมายถึง การพากเพียรจนได้รับความสำเร็จ
          1.2 กษมา ได้แก่ ความอดทน นั่นคือพากเพียรและอดทน โดยยึดความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
          1.3 ทมะ ได้แก่ การข่มจิตใจของตนด้วยเมตตา และมีสติอยู่เสมอ
          1.4 อัสเตยะ ได้แก่ การไม่ลักขโมย ไม่กระทำโจรกรรม
          1.5 เศาจะ ได้แก่ การกระทำตนให้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ
          1.6 อินทรียนิครหะ ได้แก่ การหมั่นตรวจสอบอินทรีย์ 10 ประการ ให้ได้รับการตอบสนองที่ถูกต้อง
          1.7 ธี ได้แก่ ปัญญา สติ มติ ความคิด ความมั่นคงยืนนาน นั่นคือมีปํญญาและรู้จักระเบียบวิธีต่าง ๆ
          1.8 วิทยา ได้แก่ ความรู้ทางปรัชญา
          1.9 สัตยา ได้แก่ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน
          1.10 อโกธะ ได้แก่ ความไม่โกรธ
2. หลักอาศรม 4 
        เป็นขั้นตอนการดำเนินชีวิตของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้น มี 4 ประการคือ
       1. พรหมจารี เป็นขั้นตอนที่เด็กชายทุกคนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องเข้าพิธีมอบตนเป็นนักศึกษา และจะต้องปรนนิบัติรับใช้อาจารย์พร้อมกับศึกษาเล่าเรียน
       2. คฤหัสถ์ เป็นวัยแห่งการครองเรือน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วกลับไปใช้ชีวิตทางโลก แต่งงานและมีบุตรเพื่อสืบสกุล โดยยึดหลักธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
       3. วานปรัสถ์ เป็นขั้นที่แสวงหาธรรม โดยการออกบวชสู่ป่า เพื่อฝึกจิตใจให้บริสุทธิ์และเตรียมปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
      4. สันยาสี เป็นขั้นสุดท้ายแห่งชีวิต โดยสละชีวิตทางโลกออกบวช บำเพ็ญเพียรตามหลักศาสนา เพื่อความหลุดพ้น


วรรณะในศาสนาพราหมณ ฮินดู



     
       วรรณะพราหมณ์ คือ ผู้ทำพิธีกรรม มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า สั่งสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรมแก่ประชาชนทุกวรรณะ รวมถึงมีหน้าที่ศึกษา จดจำและสืบต่อคัมภีร์พระเวท วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากปากของพระพรหม

  • วรรณะกษัตริย์ คือ กษัตริย์หรือนักรบ ทำหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง และทำศึกสงคราม วรรณะนี้เชื่อมากำเนิดมาจากหน้าอกของพระพรหม
  • วรรณะแพศย์ คือ ผู้ประกอบพาณิชกรรม เกษตรกรรม ซึ่งเป็นวรรณะของคนส่วนใหญ่ในสังคม วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากมือของพระพรหม
  • วรรณะศูทร คือ กรรมกร วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากเท้าของพระพรหม
ถ้ามีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาก็จะกลายเป็น จัณฑาล (ในภาษาไทยคือ กาลกิณี) เป็นผู้อยู่นอกวรรณะซึ่งเป็นที่รังเกียจของทุกวรรณะ

ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู แบ่งนิกายที่สำคัญออกได้ดังนี้




      1. ลัทธิไวศณพ (Vishnav) เป็นนิกายที่เก่าที่สุด นับถือพระวิษณุเจ้าเป็นเทพองค์สูงสุด เชื่อว่าวิษณุสิบปาง หรือนารายณ์ 10 ปางอวตารลงมาจุติ มีพระลักษมีเป็นมเหสี มีพญาครุฑเป็นพาหนะ นิกายนี้มีอิทธิพลมากในอินเดียภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศ นิกายนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐ สถาปนาโดยท่านนาถมุนี (Nathmuni)
      2. ลัทธิไศวะ (Shiva) เป็นนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระศิวะเป็นเทพทำลายและสร้างสรรค์ด้วย สัญลักษณ์ อย่างหนึ่งแทนพระศิวะคือศิวลึงค์และโยนีก็ได้รับการบูชา เช่น องค์พระศิวะ นิกายนี้ถือว่าพระศิวะเท่านั้นเป็นเทพสูงสุดแม้แต่พระพรหม, พระวิษณุก็เป็นรองเทพเจ้าพระองค์นี้ นิกายนี้เชื่อว่า วิญญาณเป็นวิถีทางแห่งการหลุดพ้นมากกว่าความเชื่อในลัทธิภักดี นิกายนี้จะนับถือพระศิวะและพระนางอุมาหรือกาลีไปพร้อมกัน
      3. ลัทธิศักติ (Shakti) เป็นนิกายที่นับถือพระเทวี หรือพระชายาของมหาเทพ เช่น สรัสวดี พระลักษมี พระอุมา เจ้าแม่ทุรคา และเจ้าแม่กาลีซึ่งเป็นชายาของมหาเทพทั้งหลาย เป็นผู้ทรงกำลังหรืออำนาจของเทพสามีไว้ จึงเรียกว่า ศักติ (Power) นิกายนี้เป็นที่นิยมในรัฐเบงกอล และรัฐอัสสัม เป็นต้น
      4. ลัทธิคณพัทยะ (Ganabadya) นิกายนี้นับถือพระพิฆเณศเป็นเทพเจ้าสูงสุด ถือว่าพระพิฆเนศเป็นศูนย์กลางแห่งเทพเจ้าทั้งหมดในศาสนา เชื่อว่าเมื่อได้บูชาพระพิฆเนศอย่างเคร่งครัด ก็เท่ากับได้บูชาเทพอื่นๆ ครบทุกพระองค์
      5. ลัทธิสรภัทธะ (Sarabhadh) เป็นนิกายขนาดเล็ก ในสมัยก่อนบูชาพระอาทิตย์ (สูรยะ) มีผู้นับถือมากในอดีต ปัจจุบันมีจำนวนน้อย นิกายนี้มีพิธีอย่างหนึ่งคือ กายตรี หรือ คายตรี (Gayatri) ถือว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ คือการกลับมาของพระอาทิตย์เป็นฤๅษีวิศวามิตร
      6. ลัทธิสมารธะ (Samardha) เป็นนิกายที่ใหญ่พอสมควร นับถือทุกเทพเจ้าทุกพระองค์ในศาสนา ฮินดู ความเชื่อแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถบูชาเจ้าได้ตามต้องการ ยังมีนิกายอื่นๆ อีกมากมาย และแยกย่อยออกไปอีก



ที่มา : http://allknowledges.tripod.com/brahmin.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น