วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 11 ศาสนาชินโต

ศาสนาชินโต


      ชินโต  เป็นลัทธิตามความเชื่อเดิมของชาวญี่ปุ่น คำว่า ชินโต มาจากตัวอักษรจีน หรือคันจิ 2 ตัวรวมกัน คือ ชิน หมายถึงเทพเจ้า และ โต หมายถึงวิถีทางหรือศาสตร์วิชา หรือ เต๋า ในลัทธิเต๋านั่นเอง เมื่อรวมกันแล้ว จะหมายถึงศาสตร์แห่งเทพเจ้า หรือวิถีแห่งเทพเจ้านั่นเอง
      ปัจจุบันนี้ ลัทธิชินโตถือให้เป็นลัทธิความเชื่อพื้นเมืองประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง พิธีกรรมของลัทธิชินโตนี้มาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นพิธีกรรมอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งพุทธศาสนา ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋าได้เริ่มให้มาในดินแดนญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 พิธีกรรมของลัทธิชินโตได้ถูกบันทึกและบัญญัติเป็นครั้งแรกในคัมภีร์โคะจิคิ และจดหมายเหตุนิฮงโชะกิ ในศตวรรษที่ 8 เพื่อตอบโต้ศาสนาที่มีระดับความพัฒนามากกว่าจากแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม งานเขียนในยุคแรกๆก็ยังมิได้บ่งบอกว่าเป็น ลัทธิชินโตแต่งานเขียนในสมัยต่อมาก็ได้บ่งชี้อย่างชัดเจน พร้อมได้รวมขนบธรรมเนียบของสังคมเกษตรกรรมและเทศกาลประจำปีเข้าไปด้วย รวมไปถึงความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลก (อังกฤษ: cosmogony) และเทพนิยาย (อังกฤษ: mythology) ต่างๆ ซึ่งเล่าถึงต้นกำเนิดของชนชาติญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะหมายถึงเชื้อสายยะมะโตะ (ญี่ปุ่น) และอิสึโมะ (ญี่ปุ่น) ในสมัยนั้น พุทธศาสนาได้แพร่จากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่น และมีผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในลัทธิชินโตและความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา เป็นต้น
       ปัจจุบันนี้ ลัทธิชินโตถูกจัดให้เป็นลัทธิบูชาเทพเจ้าหลายองค์ หรือ พหุเทวนิยม (อังกฤษ: polytheism) และลัทธิบูชาภูตผี (อังกฤษ: animism) ที่เน้นความบริสุทธิ์ของพิธีกรรมเป็นอย่างมาก รวมถึงยกย่องเกียรติและความมีตัวตนของเทพเจ้า (ญี่ปุ่น) ซึ่งมีทั้งเทพเจ้าที่มีมาจากการยกบุคคลให้เป็นเทพ (อังกฤษ: anthropomorphic deity) หรือการบูชาธรรมชาติ และเทพเจ้ายังสามารถมีลูกได้ด้วย ลัทธิชินโตเป็นลัทธิที่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่จะทำให้ศาสนิกชนเข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าได้มากที่สุด ลัทธิชินโตยุคใหม่ไม่มีสถาบันที่ที่ยกตัวเป็นผู้ควบคุมส่วนกลาง มีเพียงแต่กลุ่มคนที่พยายามรักษาวิถีปฏิบัติของลัทธิชินโตมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ชินโตได้ถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งในปัจจุบันชินโตเริ่มลดหายไปจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยที่ยังเห็นได้ในปัจจุบันได้แก่ โอมิคุจิ (ญี่ปุ่น) (การดึงฉลากเสี่ยงโชคในศาลเจ้าชินโต) และการเฉลิมฉลอง งานปีใหม่ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น) ที่มีจัดขึ้นตามศาลเจ้าชินโต
สัญลักษณ์ของศาสนาชินโต   
        1.โทรี ได้แก่ ประตูอันมีเสา 2 เสา มีไม้ 2 อันวางไว้ข้างบน ซึ่งมีประจำอยู่ที่ศาลเจ้าทุกแห่ง เป็นเครื่องหมายการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าเกือบทุกแห่ง(ศาลเจ้าเล็กๆอาจไม่มีโทรี) เป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าของศาสนาชินโต
          แต่เดิม โทรี คือ คบไม้สำหรับให้นกขึ้นจับเพื่อคาบศพของคนตายไป(สวรรค์) 
        2. กระจก อันมีรูปลายดอกไม้
            ทั้ง 2 สัญลักษณ์นี้พอให้รู้ว่าเป็นศาสนาชินโตได้ในบางกรณี แต่สัญลักษณ์ที่มีมาแต่โบราณเป็นสมบัติสืบทอดมากับบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิ และมีความหมายทางคุณธรรม น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณืว่า นั่นก็คือ สิ่งที่ในภาษาญี่ปุ่นว่า “ซานชูโน-ซิงกิ” อันได้แก่ สมบัติ 3 ประการ คือ
         1.กระจก(ยตะ โน กาคามิ)  เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระสุริยเทพี อมะเตระสุ โอมิคมิ ได้มอบให้หลานชายชื่อ นินิคิโน มิโกโด มาปกครองเกาะญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ กระจกอาจเป็นเครื่องหมายแห่งพระสุริยเทพีก็ได้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ ศาลเจ้าอิเซ
        2.ดาบ(กูสะ นาคิ โนซิรุคิ)  เป็นเครื่องหมายแห่งความกล้าหาญ ในฐานะเป็นการปรากฏแห่งเทพเจ้า ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าอัทสุตะ
        3. รัตนมณี(ยาสะกะนิ โน มาคะ ตามะ) เป็นสัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญประโยชน์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ประจำ ณ พระราชวังแห่งพระจักรพรรดิ
     สรุปแล้วสมบัติทั้ง 3 นี้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง คุณธรรมทั้ง 3 คือ ปัญญา กล้าหาญ และการบำเพ็ญประโยชน์ อันเป็นคุณธรรมสำคัญในศาสนาชินโตนั่นเอง นับว่าเป็นการพัฒนาศาสนาชินโตในด้านคุณธรรมได้เป็นอย่างดี





โทะริอิ ที่ ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ สัญลักษณ์ที่สำคัญของชินโต


คัมภีร์ของศาสนาชินโต     
    คัมภีร์ของศาสนาชินโตที่สำคัญที่สุดมี 2 คัมภีร์ คือ
        1.โกชิกิ คัมภีร์นี้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นในปี ค.ศ. 712(พ.ศ. 1255) แต่เดิมมาท่องจำกันด้วยปากเปล่า เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยจดหมายเหตุเรื่องราวโบราณ เริ่มตั้งแต่กำเนิดพระเจ้า การเริ่มของเกาะญี่ปุ่นที่พระสุริยเทพีเป็นผู้สร้าง เริ่มประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่พระเจ้าจักพรรดิองค์แรกคือ ยิมมู จนถึงพระเจ้าจักรพรรดินีซุยโก(พ.ศ. 1171) นอกจากนั้นยังบรรยายถึงพิธีกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีข้อห้าม การปฏิบัติทางไสยศาสตร์ การปฏิบัติเนื่องด้วยเทพเจ้าของญี่ปุ่นโบราณอย่างพิสดาร   
    2.นิฮอนคิ หรือ นิฮอนโชกิ คัมภีร์นี้รวบรวมขึ้นเป็นอักษรจีน ณ ราชสำนัก ในปี ค.ศ. 720(พ.ศ. 1263) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวความเรื่องพระเจ้าตามเทพนิยายดั้งเดิม จนถึงสมัยจักรพรรดินียีโต(พ.ศ. 1245) รวมเป็นหนังสือ 30 เล่ม 15 เล่มแรกกล่าวถึงเทพนิยายและนิยายเป็นอันมาก ส่วน 15 เล่มหลัง กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
      นอกจากคัมภีร์ทั้ง 2 ดังกล่าว ยังมีคัมภีร์รองๆไปอีกมาก เช่น เยนงิ ซิกิ ที่ว่าบทสรรเสริญและพิธีกรรมในสมัยเยนงิ(พ.ศ. 1444-1566) และ มันโยชู หรือ บูนโยซิว(ชุมนุมแห่งใบไม้หมื่นใบ) ที่ว่าด้วยการเริ่มขึ้นแห่งแผ่นดินสวรรค์ การประชุมของเทพเจ้าหมื่นแสนองค์ เรื่องสุริยเทพี เรื่องสร้างเกาะญี่ปุ่น เรื่องประทานแผ่นดินให้เป็นที่อาศัยของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น

หลักคำสอนสำคัญของศาสนาชินโต
    1.ข้อห้ามและข้อแนะนำให้ปฏิบัติให้ได้ 13 ประการ
        1.1 อย่าละเมิดบัญญัติของพระเจ้า    
        1.2 อย่าลืมความผูกพันอันดีต่อบรรพบุรุษ
        1.3 อย่างล่วงละเมิดบัญญัติของรัฐ
        1.4 อย่าลืมความกรุณาอันลึกซึ้งของพระเจ้าที่คอยป้องกันอันตรายต่างๆ
        1.5 อย่าลืมว่าโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน
        1.6 ถ้าใครมาโกรธอย่าโกรธตอบ
        1.7 อย่าเกียจคร้านในกิจการทั้งปวง
        1.8 อย่าเป็นคนติเตียนคำสอน
        1.9 จงทำจิตใจให้ยุติธรรมเพื่อปกครองตนเอง
        1.10 จงกรุณาต่อคนทั้งหลายยิ่งกว่ากรุณาตัวเอง
        1.11 จงคิดอุบายให้เกิดความสุขใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต หาความสุขให้แก่คนทั้งหลาย
        1.12 จงปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความเคารพ
        1.13 จงปฏิบัติตนเป็นพี่น้องของคนทั้งหลาย
   2.วจนะศาสนาชินโต
        -ทั้งสวรรค์และนรกมาจากใจของตนเอง     
        -ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกท่านรับพรของสวรรค์ชั้นเดียวกัน
        -อยู่กับเทพเจ้าจะไม่มีกลางวันและกลางคืน ไม่มีทั้งไกลและใกล้
        -ความเชื่อขอให้เป็นเช่นการเชื่อฟังฐานบุตรต่อบิดามารดา
        -เมื่อใจของอมะเตระสุโอมิคมิ และใจของคนทั้งหลายไม่แบ่งแยกกัน ต่อจากนั้นก็จะไม่มีสิ่งเช่นความตาย
 3.การบูชาในศาสนา
        การบูชาในศาสนาชินโตก็คือ การไหว้เจ้า ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้ศาลเจ้า เพียงแต่งตัวให้สะอาด เข้าไปโค้งคำนับหน้าศาลเจ้า หลับตา ตบมือ เรียกดวงวิญญาณมารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็ยืนเข้าสมาธินิ่งๆ อยู่ครู่หนึ่งแล้วค่อยกลับออกไป แต่อาจมีอย่างอื่นๆอีกบ้างตามที่นักบวชหรือผู้เฝ้าศาลเจ้าจะแนะนำให้ทำเครื่องอามิสบูชาที่จะต้องนำไปไหว้ศาลเจ้า มีนักบวชประจำศาลเป็นผู้จัดไว้แล้ว และมีไว้อย่างเดียวกันเหมือนกันหมดทุกศาลเจ้า เครื่องอามิสเหล่านั้นมี เหล้าสาเก 4 ถ้วยเล็กๆ ข้าวปั้น 16 ก้อน เกลือ 16 ก้อน ปลาสด ผลไม้ สาหร่ายทะเล และส้มสูกลูกไม้อีกไม่กี่ลูกนัก ผู้ไปบูชาไม่ต้องเสียเงิน
 4.การปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด
     การปฎิบัติอย่างนี้มี 4 ประการ คือ    
       4.1 มีความคิดแจ่มใส(อากากิ โคโกโระ)
       4.2 มีความคิดบริสุทธิ์สะอาด(คิโยกิ โคโกโระ)
       4.3 มีความคิดถูกต้อง(ทาดาชีกิ โคโกโระ)
       4.4 มีความคิดเที่ยงตรง(นาโอกิ โคโกโระ)

   ใครทำได้อย่างนี้ตายไปจะไปเป็นเทพเจ้า ทั้ง 4 ประการนี้ย่อเข้าให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงคำเดียวว่า เซอิเมอิ-ชิน
  5.คำสอนจริยศาสตร์อื่นๆ เช่น
        -ให้พูดแต่คำสัตย์จริง      
        -ให้รู้จักประมาณความพอดี
        -ให้ละเว้นโทสะ
        -ให้มีความกล้าหาญในทางดี
        -ให้งดเว้นจากความโกรธ
        -ให้เป็นคนมีมุทิตาจิตมีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

พิธีกรรมของศาสนาชินโต


    1.พิธีบูชาในศาสนา
ในศาสนาชินโตมีการบูชาคือการไหว้เจ้า การไหว้เจ้าของญี่ปุ่นไม่ต้องเสียหมูเห็ดเป็ดไก่เหล้ายา แล้วเอามากินกันเหมือนชาวจีน ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้เจ้า เพียงแต่เตรียมการโดยแต่งตัวให้สะอาด แล้วเข้าไปโค้งคำนับตรงหน้าศาลเจ้าซึ่งมีมากมายหลายแห่ง มีอยู่เกือบ 200,000 แห่ง จะมี โทรี(ประตูวิญญาณ) เป็นเครื่องหมาย แผ่นดินแห่งศาลเจ้าก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อคำนับแล้ว ก็หลับตาตบมือ เรียกดวงวิญญาณ มารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็จะยืนนิ่งๆเป็นสมาธิเฉยๆ สักครู่หนึ่งก่อนกลับออกไป   
    2.พิธีบูชาธรรมชาติ
ชาวญี่ปุ่นคิดว่าธรรมชาติต่างๆบนเกาะญี่ปุ่น เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเทพเจ้า จึงมีฐานะควรแก่การเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร แม่น้ำลำธาร แผ่นดิน พรรณพฤกษา ต้นไม้ใบหญ้าสัตว์ป่า และของศักดิ์สิทธิ์สูงส่งขององค์จักรพรรดิ คือ กระจกเงา ดาบ และอัญมณี ซึ่งถือว่าเป็นเทวสมบัติ มีวิญญาณที่เทพเจ้าประทานมา ล้วนแต่ควรแก่การเคารพบูชาทั้งนั้น ชาวญี่ปุ่นมีความรักธรรมชาติ สงวนป่าไม้ ภูผา พงไพร พืชน้อยใหญ่เสมือนชีวิตของตน
    3.พิธีบูชาปูชนียบุคคล
      -การบูชาวีรชน เรื่องความรักชาติ ชาตินิยม เทิดทูนชาติ ดูเหมือนว่าจะหาชาติใดเสมอเหมือนชาติญี่ปุ่นได้ยาก ใครๆที่แสดงความกล้าหาญ เสียสละชีวิตในสนามรบจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นเทพเจ้าควรแก่การเคารพบูชายิ่ง มีศาลเจ้าชื่อ Yasukuni Shrine เป็นที่รวมวิญญาณของวีรบุรุษและวีรสตรีนิรนามของชาติ แต่ละปีมีรัฐพิธีบูชาดวงวิญญาณผู้กล้าหาญเหล่านี้เป็นประจำเสมอมา$ 

      -การบูชาองค์จักรพรรดิ ชาวญี่ปุ่นถือว่าองค์จักรพรรดิ หรือองค์มิกาโด หรือ เทนโน(Mikado,Tenno) เป็นผู้สืบเชื้อหายมาจากดวงอาทิตย์ตลอดมาโดยไม่ขาดสาย องค์จักรพรรดิญี่ปุ่นเท่ากับเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ ญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันหมด ชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ จึงยกย่องเทิดทูนเคารพบูชาองค์จักรพรรดิยิ่งกว่าชีวิต     -การบูชาบรรพบุรุษ มีผู้กล่าวว่าการบูชาบรรพบุรุษญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับของจีนแล้ว จะเห็นว่าของญี่ปุ่นจะสูงกว่าและศักดิ์กว่า ดูจะจริง เพราะญี่ปุ่นยอมรับว่าองค์จักรพรรดของตนสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า เป็นการสืบสายไม่มีขาดช่วง และองค์จักรพรรดิเท่ากับหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ จึงเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันเป็นเชื้อสายสืบต่อมาจากองค์จักรพรรดิที่เป็นเหล่ากอของเทพเจ้า ความเป็นบรรพบุรุษ จึงติดต่อกันมาเป็นสายเลือดเดียวกัน จึงมีการบูชาบรรพบุรุษทั้งของครอบครัวแต่ละครอบครัว และบรรพบุรุษในครอบครัวรวมอันหมายถึงชาติญี่ปุ่นโดยรวมด้วย 
     4.พิธีเกี่ยวกับเด็กทารกเกิดใหม่
อายุได้ 7 วัน ก็จะมีการอุ้มไปตั้งชื่อต่อหน้าแท่นบูชา ทำพิธีรับขวัญเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ 31 หรือ 32 วัน ก็จะอุ้มเด็กไปไหว้ศาลเจ้านอกบ้านตามวัดบ้าง ตามภูเขาบ้าง ตามประเพณีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดหรือตาย จะนิมนต์นักพรตมาทำพิธี หากไม่มีหรือหานักพรตไม่ได้ หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง

     5.พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์
เมื่อวันนักขัตฤกษ์มาถึง ชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ นักพรตมีหน้าที่ทำพิธีอ่านบทสวดเบื้องหน้าแท่นบูชาที่ศาลเจ้าเพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ให้เก็บเกี่ยวได้ผลดี ให้บ้านเรือนมีความสุข ให้มีผลสำเร็จในการออกรบทัพจับศึก ให้การปกครองเป็นไปด้วยดี และให้องค์จักรพรรดิทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติยิ่งยืนนาน
    6.พิธีโอโฮฮาราซิ 
เป็นพิธีชำระครั้งยิ่งใหญ่ โดยมหากรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิผู้รับมอบหมายอำนาจมาจากเทพเจ้า อะมะเตระสุ โอมิคมิ ให้ประกอบพิธีด้วยการประพรม(การชำระล้าง) ด้วยน้ำบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น แล้วเซ่นสรวงสังเวยอันเป็นไปเพื่อการทดแทน(บาป) บรรดามุขมนตรีและพลเมืองของพระองค์ผู้กระทำพิธีนี้ ต้องทำความบริสุทธิ์ให้เกิดแก่ตนเองเพื่อปลดบาปออกไปให้พ้นจากตน
นิกายสำคัญของศาสนาชินโต   
   ศาสนาชินโตมีนิกายจำนวนมาก แต่เมื่อจัดประเภทใหญ่แล้วมี 2 นิกาย คือ
         1.ชินโตของรัฐ(State Shinto) หรือก๊กกะชินโต เป็นนิกายที่ทางราชการรับรองและอุปถัมภ์ ควบคุมดำเนินการแบบราชการ จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นักบวชเป็นคนของทางราชการ จะเที่ยวไปทำพิธีให้ใครต่อใครไม่ได้ จะต้องทำกิจอยู่เฉพาะศาลเจ้า และห้ามมิให้โฆษณากิจการใดๆ นิกายนี้เน้นหนักถึงความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ต่อมาได้ขยายคำสอนส่งเสริมให้คนกล้าหาญ สร้างหลักชาตินิยมอย่างรุนแรงตามแบบบูชิโด และเมื่อปีที่ 15 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิเมยีมีพระบรมราชโองการ จากสวรรค์ มายังกองทัพทุกเหล่ามีความสำคัญว่า ให้รักชาติ รักความกล้าหาญ จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ แม้ชีวิตก็สละได้ ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ให้ถือว่าเท่ากับบัญชาจากสวรรค์ ตั้งแต่นั้นมาทหารญี่ปุ่นก็ได้รับเกียรติมาก ใครทำร้ายทหารไม่ได้ ทหารก็กลายเป็นตุ๊กตาไขลาน คอยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาทุกอย่าง แต่ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2488 นายพลแมคอาเธอร์ผู้ยึดครองเกาะญี่ปุ่น ได้ออกประกาศล้มเลิกชินโตแห่งรัฐและไม่ยอมให้ศาลเจ้าอิเซเป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพของศาสนาชินโตอีกต่อไป(ศาลเจ้าอิเซสร้างโดยเจ้าชายโตโยสุกิอิริฮามะ ในรัฐกาลซูยิน ประมาณ พ.ศ. 573) อาจจะเพราะเห็นว่าทำให้คนฮึกเหิมในการรบโดยเชื่อมั่นในเทพเจ้าก็ได้ นิกายนี้ได้แสดงถึงความกลมกลืนกันระหว่างศาสนากับการเมืองที่เรียกในภาษาญี่ปุ่น “ไซเซอิ-อิทซิ” มีการใช้คำว่า โกโด(ทางแห่งพระจักรพรรดิ) เพื่อทำให้ความหมายคำว่าชินโตของรัฐชัดเชนขึ้น และมีความเด่นกว่าความหมายทั่วไปของคำว่า ชินโตโดยส่วนรวม
        2.ชินโตของราษฎร์(Sectarian Shinto) หรือ ระโยหะชินโต เป็นนิกายที่ประชาชนนับถือแตกต่างกันไป นิกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งนิกายต่างๆอีกมากมาย ซึ่งได้ก่อเกิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พอจะจัดเป็นนิกายใหญ่ๆได้ 13 นิกาย โดยแบ่งเป็นนิกายชินโตบริสุทธิ์ดั้งเดิมแต่โบราณ 3 นิกาย เป็นนิกายที่รวมเอาศาสนาอื่น เช่น พุทธ ขงจื๊อ ที่เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นเข้าผสมผสานกับศาสนาชินโต มี 5 นิกาย และเป็นนิกายที่ทำให้บริสุทธิ์และรักษาโรคด้วยความเชื่อ โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่ผู้ตั้งนิกายใหม่ทั้งชายและหญิง มี 5 นิกาย

บทบาทของศาสนาชินโตต่อสังคม     
     1.ช่วยให้สังคมได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยการบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า
     2.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีความรักชาติเป็นชีวิตจิตใจ   
     3.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นเป็นคนกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ขยันเป็นเยี่ยม
     4.ช่วยให้สังคมรักความสะอาด 
     5.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของตนโดยเฉพาะ
     6.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีความภักดีต่อผู้ปกครอง และเคารพกฎบัญญัติของประเทศ เพราะมีศาสนาและการเมืองดำเนินไปอย่างกลมกลืนกันและกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น