วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 10 ศาสนาเต๋า

ศาสนาเต๋า



       ลัทธิเต๋า หรือ ศาสนาเต๋า เป็นศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยคำว่า เต๋า แปลว่า "มรรค" หรือ "หนทาง" ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ด้วยอักษรและชื่อ ถ่ายทอดไม่ได้
เล่าจื๊อ ศาสดาของศาสนาเต๋าได้เขียนข้อความสื่อถึง "เต๋า" ไว้ในชื่อคัมภีร์ชื่อ "เต้าเต๋อจิง" 
      ศาสดาของศาสนาเต๋าชื่อเล่าจื๊อ (Lao-Tzu, Lao = แก่, Tzu = อาจารย์) แปลว่า นักปราชญ์ผู้เฒ่า เป็นชื่อสมญา ตำนานเล่าว่าเมื่อเกิดมามีผมขาวโพลนชื่อจริงคือ ลี้ตัน เกิดในตระกูลชาวนายากจนทางภาคกลางของจีนเมื่อปี 605 ก่อนค.ศ. เล่าจื๊อเป็นผู้ฉลาดตั้งแต่เด็ก ชอบสังเกตธรรมชาติ นิยมการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ รักสันโดษ ได้รับตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมอาลักษณ์ เป็นนักปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก เล่าจื๊อท้อแท้ใจกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันทั่วไป จึงลาออกจากราชการเพื่อไปหาความสงบอย่างสันโดษ มุ่งไปยังภูเขาทางทิศตะวันตก ตำนานเล่าว่าเมื่อถึงประตูเมือง นายประตูผู้รักษาด่านพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งเมืองโฮนานจำท่านได้ ขอให้ท่านหยุดพักเพื่อเขียนคำสอนทางปรัชญาไว้ให้คนรุ่นหลัง เล่าจื๊อจึงเขียนคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง หรือ เต๋าเต๋อจิง เป็นอักษรจีนประมาณ 5,000 คำ จากนั้นก็เดินทางต่อไป ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครทราบเรื่องราวของท่านอีกเลย ปัจจุบันนี้คำสอนของเล่าจื๊อยังคงมีอิทธิพลมหาศาล ไม่ว่าจะรู้จักกันในชื่อศาสนาเต๋า หรือปรัชญาเต๋า หรือลัทธิเต๋า ความรู้ที่นักปราชญ์ฝ่ายเต๋าได้ช่วยกันสะสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ก็ได้กลายมาเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอันลุ่มลึกและหลากหลาย ที่โลกปัจจุบันกำลังพยายามศึกษาด้วยความทึ่งและนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีวิทยาการสาขาใดเลยในอารยธรรมอันยาวนานของประเทศจีน ที่ไม่ได้รับอิทธิพลของมรดกทางปัญญาฝ่ายเต๋า รัฐศาสตร์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ จิตวิทยา จิตรกรรม ดนตรี วรรณคดี การละคร นาฏศิลป์ มัณฑศิลป์และยุทธศาสตร์ ล้วนมีความรู้แบบเต๋าเป็นรากฐานหรือส่วนประกอบสำคัญทั้งสิ้น
         แนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่งในศาสนาเต๋าคือเรื่อง "ยินหยาง" ซึ่งหมายถึง ธรรมชาติที่เป็นของคู่
ตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นของคู่


  • ยิน คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ
  • หยาง คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
       เอกภพเกิดขึ้นโดยมียินและหยาง จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จ เป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฎเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน

คำสอนของศาสนาเต๋า       คำสอนของเล่าจื๊อเป็นแนวทางครองชีวิตของผู้ใฝ่รู้เพื่อพัฒนาจิตใจของตนเอง โดยเน้นการดำเนินชีวิตอย่างง่ายๆ กลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ เพื่อจะได้มีความสงบในจิต นอกจากนี้เล่าจื๊อยังเน้นการรู้จักบังคับตนเองอีกด้วย คำสอนของเล่าจื๊อจัดเป็นปรัชญามากกว่าศาสนา เน้นจริยธรรมมากกว่าพิธีกรรม  ก่อนที่ปรัชญาเต๋าจะกำเนิดขึ้น คนจีนนับถือธรรมชาติ พวกเขาสังเกตเห็นลักษณะ 3 ประการของธรรมชาติ ได้แก่
      1. การหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบ เช่น กลางวันกับกลางคืน และฤดูกาลต่างๆ
      2. การเกิดดับของสรรพสิ่ง
      3. ลักษณะที่ปรากฏเป็นสิ่งตรงกันข้ามนั้น ความจริงเป็นเอกภาพ เช่น ความร้อนกับความหนาว หากไม่มีความร้อนเราจะไม่รู้จักความหนาวเลย

คัมภีร์ของศาสนาเต๋า     คัมภีร์ของศาสนาเต๋า เรียกว่า “เต๋าเต็กเก็ง” เต๋า แปลว่า ทาง คำว่า เต็ก แปลว่าคุณธรรม หมายถึงการแสดงออกของสัจธรรม คุณธรรมที่เรารู้เห็นได้ คำว่า เก็ง แปลว่าวรรณคดี “เต๋าเต็กเก็ง” เป็นบทกวีใช้ภาษาวรรณคดี มีเนื้อหาเกี่ยวกับ
     - หลักจริยธรรม
     - อภิปรัชญา
     - รัฐศาสตร์การปกครอง
     - คุณธรรมของนักปกครอง
     - ความสันโดษ การสละโลก
คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งมีความยาวประมาณ 5, 500 คำ มี 81 บท แบ่งเป็น 2 ภาค คือ 
     1. ภาคแรกประกอบด้วยบทที่ 1ถึง 37 รวมเป็น 37 บท เริ่มต้นด้วยคำว่า เต๋า กล่าวถึงความจริงสูงสุด คือ เต๋า ลักษณะและธรรมชาติของเต๋า การเกิดสิ่งต่างๆ หลักจริยธรรมและวิธีเข้าถึงเต๋า
     2. ภาคที่สองประกอบด้วยบทที่ 38 ถึง 81 รวมเป็น 44 บท เริ่มต้นด้วยคำว่า เต้ ซึ่งแปลว่า คุณธรรม กล่าวถึงลักษณะการปกครองที่ดีและรัฐในอุดมคติแบบเต๋า ลักษณะของนักปราชญ์ที่แท้จริง และวิธีดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข



พิธีกรรม
     ศาสนาเต๋าเริ่มต้นด้วยการเป็นปรัชญา จึงไม่มีพิธีกรรม ไม่มีข้อปฏิบัติสำหรับบรรดาศิษย์ มีแต่ข้อคิดและคำสอน  เมื่อมีการประยุกต์คำสอนของเล่าจื๊อเข้ากับคำสอนของขงจื้อ และพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋าก็รับอิทธิพลของศาสนาทั้งสองในด้านพิธีกรรมเข้ามาด้วย ต่อมาเมื่อไสยศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในศาสนาเต๋า จึงเกิดพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเวทมนตร์คาถาและการปลุกเสก พิธีไล่ผี เซ่นไหว้เทพเจ้า นักบวชเต๋ากลายเป็นที่ปรึกษาหาฤกษ์ยามและวันมงคลสำหรับประกอบพิธีต่างๆ ปัจจุบันในวัดเต๋า เช่นที่ไต้หวัน มีการสวดมนตร์ประจำวัน ในวันขึ้นปีใหม่(ตรุษจีน)และเทศกาลถือศีลกินเจ มีการสวดมนตร์ รำดาบ ปัดแส้ พรมน้ำมนตร์ เผากระดาษเหลืองและเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วยอาหารและผลไม้

แนวคิด       
      1. ศาสนาเต๋า เกิดในประเทศจีน ประมาณ 61 ปี ก่อนพุทธศักราช เริ่มแรกนั้นยังไม่เป็นศาสนา เป็นเพียงปรัชญาเท่านั้น ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีข้อปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษมากไปกว่าข้อคิดและคำสอน ต่อมาภายหลังจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นศาสนาที่มีองค์ประกอบตามลักษณะของศาสนา ศาสนาเต๋าเป็นอเทวนิยม ศาสดาของศาสนาเต๋าคือ เล่าจื๊อ
      2. คัมภีร์ของศาสนาเต๋า คือคัมภีร์เต้าเตกเกง หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนาเต๋า มีดังนี้ สมบัติอันเป็นรัตนะ 3 ประการ ชีวิตจะดีได้ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ลักษณะคนดีและชีวิตที่มีสุขสูงสุด ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ และปรัชญาในการดำเนินชีวิต 4 ประการ
     3. ศาสนาเต๋ามีพิธีกรรมที่สำคัญดังนี้ พิธีบริโภคอาหารเจ พิธีปราบผีปีศาจ พิธีไล่ผีร้าย พิธีส่งวิญาณผู้ตาย และพิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ จุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตของศาสนาเต๋า อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร์ก็คือ เต๋า การที่จะเข้าถึงเต๋า หรือรวมอยู่กับเต๋าเป็นเอกภาพเดียวกันได้ จะต้องบำเพ็ญตนให้ดำเนินไปตามทางของธรรมชาติ ให้มีความ สงบระงับ ครองชีวิตในทางที่กลมกลืนกับธรรมชาติสามารถทำใจให้สงบตามทางของธรรมชาติ(เต๋า) ชาวเต๋าเชื่อว่าชีวิตในโลกนี้มีครั้งเดียว จากนั้นไปสู่โลกวิญญาณชั่วนิรันดร 
    4. ศาสนาเต๋ามีอยู่หลายนิกาย แต่ว่ามีนิกายใหญ่ๆ 2 นิกาย คือนิกายเช็ง-อิ และนิกายชวน-เชน ศาสนาเต๋ามีสัญลักษณ์เป็นรูปเล่าจื้อขี่กระบือ และสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือรูปหยิน-หยาง

    5. ฐานะปัจจุบันของศาสนา ปัจจุบันนี้ศาสนิกของศาสนาเต๋ามีประมาณ 183 ล้านคน กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ อยู่ใน

ประเทศจีน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น