วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 6 ศาสนาเซน


ศาสนาเชน

        ศาสนาเชน ไชนะ หรือ ชินะ (แปลว่า ผู้ชนะ) หรือ เดียรถีย์นิครนถ์ (แปลว่า ศาสนานอกพุทธศาสนา) (อังกฤษ: Jainism) เป็นศาสนาในประเทศอินเดีย อนุมานกาลราวยุคเดียวกับสมัยพุทธกาล เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้ง หก ที่เกิดร่วมสมัยกับ พระพุทธเจ้า
       ศาสนาเชนไม่นับถือพระเจ้าหรือเทพเจ้า ถือหลักการไม่เบียดเบียน หรืออหิงสาอย่างเอกอุ ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากคืออัตตกิลมถานุโยค เป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรมที่ ผู้ที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดทางกาย วาจา ใจ  มีศาสดาคือพระมหาวีระ หรือ นิครนถนาฏบุตร
       จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนานี้คือการบำเพ็ญตนให้หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากสังสารวัฏ โดยเรียกว่าโมกษะ ปัจจุบันมีเชนศาสนิกชนประมาณ 6 ล้านคน ทั่วอินเดีย โดยมากมีฐานะดี เพราะเป็นพ่อค้าเสียส่วนใหญ่

นิกายของศาสนาเชน
       เมื่อพระมหาวีระสิ้นไปแล้วศาสนิกก็แตกแยกกันปฏิบัติหลักธรรม จากหลักธรรมที่เรียบง่ายก็กลาย เป็นยุ่งเหยิง พ.ศ. 200 ก็แตกเป็น 2 นิกาย คือ
        1.นิกายทิคัมพร นุ่งลมห่มฟ้า
        2.นิกายเศวตัมพร นุ่งขาวห่มขาว

คัมภีร์ศาสนาเชน        
         คัมภีร์ศาสนาเชนชื่อ อาคมะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธานตะ มีการรวบรวมขึ้นมาจากการท่องจำกันมาได้ แล้วจารึกในภายหลัง ตามหลักฐานปรากฏว่าได้จารึกเป็นอักษรปรากฤตประมาณ 200 ปีหลังสมัยพระมหาวีระผู้เป็นศาสดา ส่วนคำอธิบาย(ที่เรียกว่าอรรถกถา) และวรรณคดีของเชนในสมัยต่อมา ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต แต่ปัจจุบันนี้คัมภีร์ อาคมะ ได้มีการถ่ายทอดสู่ภาษาพื้นเมืองและภาษาอื่นๆมากพอสมควร  คัมภีร์อาคมะ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ 45 เล่ม โดยแบ่งออกเป็นอังคะ 11 เล่ม เป็นฤทธิวาท 1 เล่ม เป็นอุปางคะ 11 เล่ม เป็นมูลสูตร 4 เล่ม เป็นเจตสูตร 6 เล่ม เป็นคูลิกะสูตร 2 เล่ม เป็นปกัณกะ 10 เล่ม ในคัมภีร์อังคะส่วนใหญ่เป็นบทสนทนาระหว่างพระมหาวีระกับโคตรมะสาวกของพระองค์ และเชื่อว่าอารยะสุธรรมเป็นผู้บันทึกไว้ แล้วส่งคำสอนให้สาวกทั้งหลาย อาคมะกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเชน นอกเหนือจากคัมภีร์ศาสนาแล้ว ศาสนิกชนได้เขียนงานด้านปรัชญาเกี่ยวกับศาสนาของตนไว้มากมาย ทั้งในนิกายเศวตัมพรและทิคัมพร ซึ่งรวมทั้งบทละครกวี นอกจากนั้นยังมีงานเขียนเกี่ยวกับปฏิบัติโยคะ พจนานุกรม ดนตรี ตำราแพทย์ ไวยากรณ์ คณิตศาสตร์ โหราศาสตร์ นิทาน บทสวด ฯลฯ อีกมากมาย จากผลงานของปรัชญาเมธีของศาสนิกชนเชน



หลักคำสอนสำคัญของศาสนาเชน
 1.อนุพรต  อนุพรตคือข้อปฏิบัติพื้นฐาน หรือบางทีเรียกว่า ปฏิญญา มี 5 ประการ ที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม คือ       
       1.1 อหิงสา การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น ได้รับความลำบากหรือการทรมานต่างๆ ตลอดจนไม่ทำลายชีวิต จะทำองก็ดี หรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือใจ ข้อนี้นับว่าเป็นยอดของศีลธรรมในศาสนานี้ ดังที่ว่า “อหิงสา ปรโม ธรมะ” (ธรรมะใดยิ่งไปกว่าการไม่เบียดเบียนไม่มี) ข้อปฏิบัติข้อนี้สำหรับนักบวชแล้วถือเคร่งครัดมาก ต้องระมัดระวังทุกอิริยาบถทุกย่างก้าวในการกิน ดื่ม พูด ยืน เดิน นั่ง นอน มีการปิดปากป้องกันแมลงจะพลัดเข้าไป มีไม้กวาด แผ่นผ้า ผ้าเช็ดหน้า และผ้ากรองน้ำ ติดตัวไปด้วย สำหรับกวาดทางตลอดระยะทางที่จะเดินไป ดื่มน้ำที่กรองแล้ว หรือนั่งอยู่จะหาว จะไอ จะจาม ก็ต้องใช้ผ้าปิดป้องปากหรือไล่แมลงต่างๆไปเสีย
       1.2 สัตยะ การไม่กล่าวเท็จ ไม่คิดให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง จะต้องซื่อสัตว์ทั้งกาย วาจา และใจ มีความเที่ยงตรง ไม่พูดโดยไม่คิดก่อน มีความจริงใจต่อทุกๆคน
       1.3 อัสตียะ การไม่ถือเอาสิ่งของใดๆที่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของด้วยอาการลักขโมย ไม่หลบของหนีภาษี ไม่ใช้เงินหรือทำเงินปลอม และไม่ชั่งตวงวัดโกง
       1.4 พรหมจริยะ การประพฤติสิ่งที่ดีงาม โดยการเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย เช่น การประพฤติผิดทางกาม และการอยู่ร่วมกับโสเภณี หรือการดื่มน้ำเมา เสพยาเสพติดต่างๆ สำหรับนักบวชก็ถือเคร่งครัดยิ่งขึ้น คือ จะต้องงดเว้นจากการเสพกาม และสละตัณหาในเรื่องกามทุกชนิดทุกระดับโดยเด็ดขาด
      1.5 อปริคคหะ ความไม่ละโมบโลภมาก ไม่โลภไม่อยากได้ของคนอื่นๆ เป็นผู้รู้จักประมาณ พอใจในสิ่งของของตน หรับนักบวชก็ถือเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น คือ จะต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ ไม่สะสมข้าวของใดๆ เที่ยวไปผู้เดียว อาหารอะไรก็รับประทานได้ไม่เลือก อาหารผสมกันหลายชนิดที่ไม่มีรสชาติอะไรก็รับประทานได้ แม้แต่น้ำล้างจานหรือเศษอาหารที่ไหลมาตามท่อน้ำเสียก็รับประทานได้ ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือสมบัติติดตัวใดๆ ข้อให้ได้ปฏิบัติธรรมด้วยร่างกายันเปลือยเปล่าก็ยอม และเปลือยกายได้ไม่มีความละอาบใดๆ
2.หลักเมตตา 
    หลักธรรมที่แสดงถึงความเห็นใจผู้อื่น มี 4 ประการ คือ     1.1มีความกรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน
     1.2ยินดีในความได้ดีของผู้อื่น
     1.3มีความเห็นใจในความทุกข์ยากของคนอื่น รวมทั้งช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์
     1.4มีความกรุณาต่อผู้ทำผิด
3.หลักฆราวสธรรม 
     ธรรมะของฆราวาส 12 ประการ
     1.1  อหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิต 
     1.2  สัตยะ คือ ความสัตย์ไม่พูดเท็จ
     1.3  อัสตียะ คือ การไม่ลักขโมย
     1.4  พรหมจริยะ คือ การประพฤติพรหมจรรย์
     1.5  อปริครหะ คือ การไม่ละโมบ ไม่อยากได้สิ่งต่าง ๆ
     1.6  ไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีวิญญาณทั้งหลาย
     1.7  ไม่ออกพ้นเขตของตนในทิศหนึ่งทิศใด
     1.8  มีความพอดีในการกินการใช้
     1.9  ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย
     1.10 บำเพ็ญพรตทุกเทศกาล
     1.11 จำอุโบสถและฟังธรรม
     1.12 ต้อนรับเลี้ยงดูแขกผู้มาเยือน
4. มหาพรต
       ข้อปฏิบัติอันสำคัญและยิ่งใหญ่ อันเป็นทางนำไปสู่ความหลุดพ้นซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนานี้ เรียกว่า โมกษะ หรือ นิวาณะ 3 ประการ บ้างเรียกว่า ไตรรัตน์(แก้ว 3 ประการ)ของศาสนาเชน คือ       1.สัมยัคทรรศนะ ความเห็นชอบหรือความเชื่อที่ถูกต้อง กล่าวคือ มีความเชื่ออย่างจริงใจที่สุดในศาสดา 24 ของศาสนาเชนว่า ท่านศาสดาเหล่านั้นเป็นบรรพบุรุษของเรา ทุกท่านแต่ก่อนก็เป็นปุถุชนอย่างเรา แต่อาศัยที่ทุกท่านเหล่านั้นมีความวิริยะอุตสาหะขันติแรงกล้ากว่าสามัญชน จึงบรรลุถึงความหลุดพ้น(โมกษะ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นชินะได้ นอกนั้นมีความเชื่อในคัมภีร์หรือคำสั่งสอนของศาสนา และเชื่อในนักบวชผู้สำเร็จผลหรืออริยธรรมในศาสนาเชน
       2. สัมยัคญาณะ ความรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ รู้ชอบถูกต้องในหลักการที่ศาสดาสั่งสอน รู้โลก รู้ชีวิต และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริงและด้วยความมั่นใจ
       3.สัมยัคจาริตะ ความประพฤติที่ถูกต้อง คือ ความประพฤติชอบตามธรรมวินัย หรือข้อปฏิบัติของนักบวชและของคฤหัสถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อหิงสา การไม่เบียดเบียน
        มหาพรตหรือหลักการปฏิบัติสำคัญทั้ง 3 นี้แหละ จะเป็นวิธีการที่สามารถทำลายกรรม คือ การกระทำ ทำให้เกิดพันธนาการผูกมัดสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เมื่อมีหลักการทั้ง 3 ข้อเคร่งครัดแล้ว จะทำลายกรรมได้ และบรรลุในโมกษะหลุดพ้นจากพันธนาการดังกล่าวได้

พิธีกรรมของศาสนาเชน
       1.การบวชเป็นบรรพชิต
เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรตหรือบรรพชิต เดิมทีบรรพชิตเชน ครองผ้า 3 ผืน(ไตรจีวร) เช่นเดียวกับพระภิกษุในทางพุทธศาสนา ต้องโกนผมด้วยวิธีถอนผมเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้ ประพฤติทรมานตนเองไม่อยู่ในหมู่บ้านแห่งเดียวมากกว่าหนึ่งคืน เว้นแต่ฤดูฝนต้องถือศีลอดธรรมดา ถ้าถึงขั้นอุกฤษฏ์ต้องถือศีลอดอาหารจนตาย กาลต่อมา ล่วงมาประมาณพุทธศักราช 500 ปี นักบวชเชนได้แตกแยกกันในทางปฏิบัติออกเป็น 22 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ พวกนุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า เศวตัมพร และอีกกลุ่ม คือพวกนุ่งลมห่มฟ้า(ชีเปลือย) เรียกว่า ทิคัมพร ผู้หญิงที่เป็นบรรพชิต ได้มีแต่เฉพาะกลุ่มเศวตัมพร เท่านั้น ส่วนกลุ่มทิคัมพร เห็นว่าปล่อยผู้หญิงมาบวชเป็นบรรพชิตนุ่งลมห่มฟ้าด้วย จะยุ่งกันไปใหญ่ จึงเห็นว่า ผู้หญิงเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ ต่อมา 2 กลุ่มนี้ จึงกลายเป็นนิกายในศาสนาเชน

      2.การถืออัตตกิลมถานุโยค ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับความลำบากต่างๆ เช่น การอดอาหาร การไม่พูดจากับใครๆ การอยู่ในอิริยาบถเดียวตลอดเป็นเวลานาน การกินเศษอาหารที่ไหลมาตามท่อ หรือแม้แต่น้ำล้างจาน การปลงผมโดยการถอนเส้นผมทีละเส้น เป็นต้น นั้น จะทำให้นักพรตที่บริสุทธิ์สามารถบรรลุโมกษะ อันเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาเชนได้
      3.นอกจากนี้ ศาสนาเชนยังมีพิธีกรรมอื่นๆที่ชาวเชนปฏิบัติกัน เช่น พิธีรักษาอุโบสถสิกขา การลำเพ็ญพรตประพฤติวัตรในเทศกาล การเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเชนที่เรียกว่าวัดเชน หรือวิหารเชน หรือการปฏิบัติเมื่ออยู่ต่อหน้าปฏิมากรศาสดามหาวีระ จะเป็นปูนปั้น หรือรูปสลักก็ตาม

บทบาทของศาสนาเชนต่อสังคม   
       1.คำสอนที่สอนให้คนมีความปรารถนาน้อยแต่พอควร ทำให้สังคมไม่เป็นสังคมฟุ้งเฟ้อ
       2.คำสอนที่สอนให้คนไม่เบียดเบียนสัตว์และคนอื่น ทำให้สังคมอยู่กันอย่างสงบ       3.คำสอนที่สอนคล้ายศีล 5 ของศาสนาพุทธ ทำให้คนแต่ละคนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
       4.คำสอนที่สอนให้คนเห็นชอบ รู้ชอบ ประพฤติชอบ ทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีเหตุผล และเป็นสังคมที่เป็นระเบียบ
       5.สอนให้คนมีเหตุผลและทำดีเพื่อไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นการทำให้คนในสังคมมีจิตใจสูง ทำให้เป็นสังคมที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน และเจริญก้าวหน้าขึ้นได้

สัญลักษณ์ของศาสนาเชน      
       1.บางกลุ่มก็ว่าสัญลักษณ์ของศาสนาเชน คือ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระ ซึ่งในโบสถ์หรือวัดเชนทั่วๆไป จะมีรูปปฏิมาของศาสดาประดิษฐานอยู่ หรือภายในบ้านของศาสนิกชนก็มีรูปปฏิมาโลหะไว้บูชา เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธมีพระพุทธรูปไว้บูชาในบ้าน ในวัด โรงเรียน และในโบสถ์ รูปปฏิมาศาสดามหาวีระเป็นรูปอิริยาบถยืนบ้าง นั่งบ้าง ที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ที่ประดิษฐานที่เมืองโลหะนิปุระ ใกล้กับเมืองพิหาร หล่อขึ้นในสมัยราชวงศ์เมารยะ 


         2.บางกลุ่มก็ว่า สัญลักษณ์ของศาสนาเชนเป็นรูปของจักรวาลซึ่งรวมเอาสัญลักษณ์ต่างๆหลายอย่างมาอยู่ในที่เดียวกัน ดังนี้




        1. โดยรวมสัญลักษณ์เป็นรูปของจักรวาลโดยส่วนที่อยู่ล่างสุดคือ นรก ส่วนที่อยู่ตรงกลาง คือ มนุษยโลก และส่วนที่อยู่บนสุดคือ เทวโลก        2. มือที่ยกขึ้น หมายถึงให้”หยุด” คำที่อยู่ตรงกลางกงจักร คือคำว่า อหิงสา
        3. เหนือมือขึ้นไป คือเครื่องหมายสวัสดิกะ หมายถึง สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งทุกคนจะต้องหลุดพ้นไปให้ได้
        4. จุดสามจุดที่อยู่เหนือเครื่องหมายสวัสดิกะ คือ ไตรรัตน์ ได้แก่ สัมยัคทรรศนะ(ความเห็นชอบ) สัมยัคญาณะ (รู้ชอบ) และ สัมยัคจาริตะ(ประพฤติชอบ)
        5. รูปเส้นโค้ง หมายถึงที่อยู่ของ สิทธะทั้งหลาย ที่มีชื่อเรียกว่า สิทธศีละ อันเป็นที่พำนักสุดท้ายของวิญญาณที่หลุดพ้นแล้ว
        6. จุดเดียว ที่อยู่บนสุด หมายถึง สิทธะ ซึ่งจะบรรลุถึงจุดนี้ได้ วิญญาณต้องทำลายกรรมที่เป็นเครื่องผูกมัดให้ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จะต้องพยายามบรรลุถึงความหลุดพ้นนี้ให้ได้




(ลักษณะของมหาวีระ แสดงถึงความสงบท่ามกลางการเวียนว่ายตายเกิด 
แต่แตกต่างจากภาพวาดทางศาสนาพุทธเพียงแค่ลักษณะของการนุ่งห่ม)




(พระรูปของมหาวีระ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ พระพุทธรูป 

และบางครั้งมีลักษณะใกล้เคียงกับเทวรูปฮินดู ต้องสังเกตดีๆ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น