วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 3 ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ


        พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: buddhasāsana พุทฺธศาสนา, สันสกฤต: buddhaśāsana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา มีพระธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มี พระสงฆ์ หรือสังฆะแห่งพุทธบริษัท 4 เป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เพื่อสืบทอดไว้ซึ่งคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย
       ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม คือเชื่อว่าไม่มีพระเจ้าและเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเองด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย คือ ให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกอง          ทุกข์ มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนา คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด
       พระศาสดาพระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกจนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไปว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของมหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง บ้างก็จัดว่า วัชรยาน เป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่การจัดมากกว่านั้นก็มี หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ
       ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านคน ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล




คัมภีร์ของศาสนาพุทธ   
      หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีท่องจำ (มุขปาฐะ) โดยใช้วิธีการแบ่งให้สงฆ์หลาย ๆ กลุ่มรับผิดชอบท่องจำในแต่ละเล่ม เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาความถูกต้องของหลักคำสอน จวบจนได้ถือกำเนิดอักษรเขียนที่เลียนแบบเสียงเกิดขึ้นมาซึ่งสามารถรักษาความถูกต้องของคำสอนเอาไว้ได้แทนอักษรภาพแบบเก่าที่รักษาความถูกต้องไม่ได้ จึงได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี รักษาไว้ในคัมภีร์เรียกว่า "พระไตรปิฎก" ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่
  1. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
  2. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมทั่วไป และเรื่องราวต่าง ๆ
  3. อภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ธรรม หรือธรรมะที่แสดงถึงสภาวะล้วน ๆ ไม่มีการสมมุติ
ผู้สืบทอดศาสนา
        ผู้สืบทอดในทางศาสนาพุทธ ได้แก่ พุทธบริษัท 4 อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษา และร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้
ผู้นับถือศาสนาพุทธที่ได้บวชเพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอน (ธรรม) และคำสั่ง (วินัย) และมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ ในกรณีที่เป็นเพศชาย และ พระภิกษุณีสงฆ์ ในกรณีที่เป็นเพศหญิง
       สำหรับผู้บวชที่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ 20 ปี จะเรียกว่าเป็น สามเณร สำหรับเด็กชาย และ สามเณรีและสิกขมานา (สามเณรีที่ต้องไม่ผิดศีล 6 ข้อตลอด 2 ปี) สำหรับเด็กหญิง ลักษณะการบวชสำหรับภิกษุหรือภิกษุณี จะเรียกเป็นการอุปสมบท สำหรับสามเณรหรือสามเณรีและสิกขมานา จะเรียกเป็นการ บรรพชา ส่วนผู้นับถือที่ไม่ได้บวชจะเรียกว่า "ฆราวาส" หรืออุบาสก ในกรณีที่เป็นเพศชาย และอุบาสิกา ในกรณีที่เป็นเพศหญิง






หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา

1.ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ คือ องค์ประกอบของชีวิตมนุษย์ที่ประกอบด้วยรูปและนาม
       รูป คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย ประกอบด้วยธาตุ 4 ได้แก่
            - ธาตุดิน(ส่วนของร่างกายที่เป็นของแข็ง เช่น เนื้อ กระดูก ผม)
            - ธาตุน้ำ (ส่วนที่เป็นของเหลวของร่างกาย) เช่น เลือด น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำตา )
            - ธาตุลม (ส่วนที่เป็นลมของร่างกาย ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก ลมในกระเพาะอาหาร)
            - ธาตุไฟ ( ส่วนที่เป็นอุณหภูมิของร่างกาย ได้แก่ ความร้อนในร่างกายมนุษย์)
นาม คือ ส่วนที่มองไม่เห็นหรือจิตใจ ได้แก่
      เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดจากประสาทสัมผัส เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนา ไม่ยินดียินร้าย
     สัญญา คือ ความจำได้โดยอาศัยประสาทสัมผัส เมื่อสัมผัสอีกครั้งก็สามารถบอกได้
     สังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งจิตใจให้คิดดี คิดชั่ว หรือเป็นกลาง สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งจิต ได้แก่ เจตนา ค่านิยม ความสนใจ ความโลภ และความหลง
    วิญญาณ คือ ความรับรู้ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะ 6)

2.อริยสัจ 4
      อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ เป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา
เพราะเป็นคำสอนที่จะช่วยให้บุคคลรอดพ้นจากความทุกข์เพื่อสู่นิพพาน ได้แก่
      1. ทุกข์ หมายถึง สภาพที่ทนได้ยากทั้งร่างกายและจิตใจ
            1.1 สภาวทุกข์ หรือ ทุกข์ประจำ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
            1.2 ปกิณกทุกข์ หรือทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปและเกิดขึ้นเนืองๆ เช่น ความเศร้าโศก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ
     2. สมุทัย หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา( ความอยาก)
            2.1 กามตัณหา คือ อยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ตนยังไม่มี
            2.2 ภวตัณหา คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากให้สภาพที่ตนปรารถนาอยู่นานๆ
            2.3 วิภวตัณหา คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากให้สภาพที่ตนปรารถนาอยู่นานๆ
    3. นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ คือ ให้ดับที่เหตุ ซึ่งมีขั้นตอนตามลำดับในมรรค 8
    4. มรรคมีองค์ 8 หนทางแห่งการดับทุกข์
           4.1 สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ มีความเข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์
          4.2 สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ความคิดที่ปลอดโปร่ง ความคิดไม่พยาบาท ความคิดไม่เบียดเบียน
          4.3 สัมมาวาจา วาจาชอบ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
          4.4 สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือ ไม่ทำลายชีวิตคนอื่น ไม่ขโมยของ ไม่ผิดในกาม
          4.5 สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ การทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต
          4.6 สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือ เพียรระวังมิให้ความชั่วที่ยังไม่เกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้น เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว
          4.7 สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม
          4.8 สัมมาสมาธิ การตั้งใจชอบ คือ การตั้งจิตที่แน่วแน่อยู่ในอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านเพื่อมุ่งมั่นกระทำความดี
จากอริยสัจ 4 สังเกตได้ว่า
       1. ทุกข์ คือ ตัวปัญหา
       2. สมุทัย คือ สาเหตุของปัญหา
       3. นิโรธ คือ การแก้ปัญหา
       4. มรรค คือ วิธีการแก้ปัญหา
มรรคมีองค์แปด คือ ไตรสิกขา ได้แก่
      ศีล: สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ
      สมาธิ: สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
      ปัญญา: สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
ความสำคัญของอริยสัจ 4
      1. เป็นคำสอนที่คลุมหลักธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
      2. เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือวิธีการแห่งปัญญา
      3. คำสอนที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ตามหลักความจริงแห่งธรรมชาติ

3. ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งปวง
      1. อนิจจตา หรือ อนิจจัง ความไม่คงที่ ไม่เที่ยง ไม่ถาวร ไม่แน่นอน
      2. ทุกขตา หรือ ทุกขัง สภาพที่อยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ ต้องแปรปรวนไป
      3. อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนแท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ในเรื่งไตรลักษณ์ พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคำสอนสูงสุด ซึ่งทุกสิ่งในสากลจักรวาลล่วนเป็นอนัตตาทั้งสิ้น

4. กฎแห่งกรรม หมายถึง กระบวนการกระทำและการให้ผลการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมีหลักอยู่ว่า “คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำความดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว”
กรรม คือ การกระทำทางกาย วาจา หรือใจ ที่ประกอบด้วยเจตนา ดังพุทธวจนะตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้ว ย่อมกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจ

5. พรหมวิหาร 4
ธรรมสำหรับผู้เป็นใหญ่ ผู้ปกครอง พ่อแม่ จำเป็นต้องมีไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับดำเนินชีวิต ได้แก่
      1. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข
      2. กรุณา ความสงสาร ต้องการที่จะช่วยบุคคลอื่น สัตว์อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์
      3. มุทิตา ความชื่นชมยินดีเมื่อเห็นบุคคลอื่นเขาได้ดี
      4. อุเบกขา ความวางเฉยไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อบุคคลอื่นประสบความวิบัติ

6. อัปปมาท
      ธรรมที่กล่าวถึงความไม่ประมาท คือ การดำเนินชีวิตที่มีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังไม่ถลำตัวไปในทางเสื่อมเสีย พระพุทธเจ้าทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับความไม่ประมาทว่า “ ความไม่ประมาท ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่”

7. สังคหวัตถุ 4
หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคน
      1. ทาน การให้
      2. ปิยวาจา การกล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน
      3. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์
      4. สมานัตตตา การประพฤติตนสม่ำเสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง

8. ฆราวาสธรรม 4
หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ได้แก่
     1. สัจจะ การมีความซื่อตรงต่อกัน
     2. ทมะ การรู้จักข่มจิตของตน ไม่หุนหันพลันแล่น
     3. ขันติ ความอดทนและให้อภัย
     4. จาคะ การเ สียสละแบ่งปันของตนแก่คนที่ควรแบ่งปัน

9. บุญกิริยาวัตถุ 10
หลักธรรมแห่งการทำบุญ ทางแห่งการทำความดี 10 ประการ
     1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
     2. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
     3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
     4. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
     5. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
     6. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
     7. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
     8. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
     9. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
   10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการทำความคิดความเห็นของตนให้ตรง

10. สัปปุริสธรรม 7
หลักธรรมของคนดี หรือคุณสมบัติของคนดี
     1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
     2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล
     3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน
     4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
     5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา
     6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน
     7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบคนดี





1 ความคิดเห็น: