วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 16 วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่าๆกันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'

         ภายในวัดสระเกศมีสถานที่สำคัญอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น 
             พระอุโบสถ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีหลังคาเป็นมุขลด ๓ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบและประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีหน้าบันทำจากไม้แกะสลักประดับกระจกสีเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑอยู่ตรงกลาง บานประตูและหน้าต่างด้านนอกเขียนรายลดน้ำ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยรอบพระอุโบสถมีพระระเบียงล้อมรอบ ภายในพระระเบียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปถึง ๑๖๓ องค์  บริเวณรอบพระอุโบสถมี ซุ้มเสมา อยู่ ๘ ทิศ ลักษณะซุ้มเป็นแบบกูบช้างหน้านางประดับด้วยกระเบื้องสีต่าง ๆ มีใบเสมาคู่ สลักด้วยศิลาปิดทองและประดับกระจกสี ซุ้มเสมาของวัดนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นซุ้มที่สวยงามและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง           ถัดจากพระอุโบสถไปทางด้านหลังเป็นที่ตั้งของ พระวิหาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายในพระวิหารแบ่งป็น ๒ ห้อง ห้องทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐาน “ พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ” เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้อัญเชิญมาจากวัดวิหารทองจังหวัดพิษณุโลก ส่วนห้องทางด้านทิสตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปิดทองปางมารวิชัย มีชื่อว่า หลวงพ่อดุสิต
           สถานที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดของวัดสระเกศก็คือ พระบรมบรรพต หรือที่เรียกกันติดปากว่า ภูเขาทอง เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่การก่อสร้างพระเจดีย์มีอุปสรรคมากเนื่องจากบริเวณวัดสระเกศนี้อยู่ใกล้คลอง เป็นที่ลุ่มและดินอ่อนตัวมาก ไม่สามารถทานน้ำหนักของจดีย์ไหว จึงทรุดตัวลงแม้จะพยายามสร้างใหม่ก็กลับทรุดลงเช่นเดิม จึงได้เลิกราแต่เพียงเท่านั้น ต่อมาในสมันรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ก่อสร้างภูเขาทองขึ้นใหม่ โดยแปลงพระเจดีย์องค์เดิมให้เป็นภูเขา ก่อพระเจดียไว้บนยอดเขาและพระราชทานนามว่า “ บรมบรรพต ” ภายในพระเจดีย์ของภูเขาทองมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ และเนื่องจากภูเขาทองเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ จึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
           ทางวัดสระเกศได้จัดให้มีงานนมัสการพระบรมธาตุบนเจดีย์ภูเขาทอง ในวันขึ้น ๑๓ , ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี ถ้าใครว่างก็น่าจะหาโอกาสไปกราบนมัสการพระบรมธาตุ และชมความงามของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัดสระเกศกันบ้าง

      แร้งวัดสระเกศ
          ในสมัย รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนัก ในกรุงเทพมหานคร ขณะนั้น ยังไม่มีวิธีรักษา และรู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาต์ประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการ และธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติมิตร ในเวลานั้น วัดสระเกศ เป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน
        อหิวาต์ เวียนมาในทุกฤดูแล้ง และหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี จะในปี พ.ศ. 2392 อหิวาต์ ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" ในระยะเวลาช่วง 1 เดือน ที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 - 20,000 คน และตลอดฤดู ตายถึง 40,000 คน เจ้าฟ้ามงกุฏฯ คือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ มีศพที่นำมาเผาสูงสุด ถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้น ศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศ มีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่งไปลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้ง ที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระจายได้ และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว

บทที่ 15 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม



       วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส
       วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ
       วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

พระแก้วมรกต
       เป็นพระประทับนั่งอย่างสมาธิราบในสกุลช่างล้านนา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งแกะสลักมาจากหยกสีเขียว เข้มที่มีค่าและหายากมาก พระแก้วมรกตจะมีเครื่องทรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดู ซึ่งเครื่องทรงเหล่านี้ทำด้วย ทองคำประดับเพชรและสิ่งมีค่าชนิดต่าง ๆ ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งของ พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบันที่จะต้องเสด็จ ฯ ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงประจำฤดูด้วยตนเองซึ่งกำหนดวันเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตมีดังนี้
     วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูร้อน
     วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูฝน
     วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว
พระอุโบสถ 
      สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังคาลด 4 ระดับ 3 ซ้อน มีช่อฟ้า 3 ชั้น ปิดทองประดับ กระจก ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคาเป็นพาไลคลุม รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจก ทั้งต้น พนักระเบียงรับเสานางราย ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีอย่างจีน ตัวพระอุโบสถมี ฐานปัทม์ รับอีกชั้นหนึ่ง ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่1 เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง รัชกาลที่ 3 โปรดเล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป ปิดทองประดับกระจก บานพระทวารและพระบัญชรประดับมุก ทั้งหมด ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เชิงบันไดมีสิงห์หล่อด้วยสำริดบันไดละคู่ รวม 12 ตัว โดยได้แบบมาจาก เขมรคู่หนึ่ง แล้วหล่อเพิ่มอีก 10 ตัว



ที่มา : http://www.paiduaykan.com/province/central/bangkok/watphrakaew.html

บทที่ 14 หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่ชาวพุทธ



        หน้าที่ของชาวพุทธมีมากมายที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ นอกจากการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ แล้วยังต้องช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนตลอดไป หน้าที่ของชาวพุทธในที่นี้จะต้องเรียนรู้เรื่องของศรัทธา 4 อันเป็นความเชื่อที่กระกอบด้วยเหตุผล วัดซึ่งเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนา โดยเฉพาะเน้นเรื่องการไปวัด ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ที่วัดเพื่อจะทำให้ชาวพุทธมีความรู้และปฏิบัติตนได้ถูกต้องเหมาะสมดังนี้     
   1.ศรัทธา 4 
        1.1  กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
       1.2  วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
       1.3  กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
       1.4  ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้


       องค์ประกอบของศรัทธา 4
         หลักศรัทธาหรือความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผลในทางพุทธศาสนาที่ถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่ต้องปฏิบัติมี 4 ประการคือ
           1. เชื่อกรรม (กัมมสัทธา) กรรมแปลว่า การกระทำ เชื่อกรรมก็คือ เชื่อว่าการกระทำมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าทำอะไรโดยเจตนาย่อมเป็นกรรม เป็นความดีความชั่วที่เกิดขึ้นในตัวคนและจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยก่อให้เกิดผลดีและผลร้ายสืบเนื่องต่อไป ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่สูญเปล่า คือไม่เกิดผลและเชื่อว่าผลที่ต้องการนั้น จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำหรือกรรมนั่นเอง เช่น เราตีตุ๊กแกตายเพราะไม่ชอบ ถือเป็นกรรม แต่ถ้าเราเลื่อนตู้ไปทับตุ๊กแกตาย จะถือว่าไม่ใช่กรรมก็ได้ ผลของการเชื่อกรรม จะทำให้คนไม่งอมืองอเท้า รอแต่โชคชะตา เพราะผลของความสำเร็จเกิดจากการกระทำ
           2. เชื่อผลของกรรม (วิปากสัทธา) คือเชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริงทั้งผล โดยตรง ผลที่ได้รับภายหลังและผลพลอยได้ เช่น เราปลูกมะพร้าวก็จะได้ผลมะพร้าว ทำบุญก็ได้ความสบายใจซึ่งเป็นผลโดยตรง แต่ถ้าเราค้ายาบ้าผลที่ตามมาคือ ทำลายผู้อื่น ติดคุกและถ้าเรา เป็นคนดี ไม่พูดเท็จไม่คิดร้ายผู้อื่นผลพลอยได้ก็คือ มีคนรัก มีคนนับถือ เป็นต้น การกระทำต้องมีผลและผลมาจากเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากการกรรมชั่วหรือพูดง่าย ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง
           3. เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน (กัมมัสสกตาสัทธา) คือเชื่อว่าคนแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง กรรมหรือการกระทำที่ใครทำคนนั้นเป็นเจ้าของกรรม จะต้องเป็นทายาทผู้รับผิดชอบเสวยผลของกรรมนั้น จะยกให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของแล้วรับผลแทนกันไม่ได้ เช่น ผู้ชายที่เจ้าชู้ชอบผิดลูกเมียผู้อื่น เมื่อเขามีลูกสาว หลายคนคิดว่ากรรมจะตกไปถึงลูกสาวเขาโดยจะถูกคนอื่นหลอกลวง ซึ่งไม่ถูกตามหลักธรรมข้อนี้ เพราะพ่อทำพ่อก็จะได้รับผลเอง
          4. เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) คือเชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้ตรัสรู้จริง รู้แจ้งเห็นสัจธรรมจริงเพราะพระธรรมและวินัยที่มีอยู่ ก็ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติจริง จึงถือว่าพระองค์ตรัสรู้จริง ซึ่งศรัทธา 3 ข้อแรกรวมอยู่ในข้อ 4 ก็ได้ เพราะพระองค์ทรงสั่งสอน 3 ข้อแรกด้วย ดังนั้น ถ้าเชื่อในปัญญาของพระองค์ก็ต้องเชื่อคำสั่งสอนของพระองค์ด้วย

2. การไปวัด
         หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่ดี คือ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการไปวัดเพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องดังนี้      
  1. การแต่งกายไปวัด
           - ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ถ้ามีลายก็เป็นลายเรียบๆ เนื้อผ้าไม่ควรโปร่งบางจนเกินไป ไม่หรูหราจนเกินไป เสื้อผ้าไม่ควรหลวมหรือรัดรูปจนเกินไป เพื่อความสะดวกในการกราบไหว้พระและนั่งสมาธิ
           - สำหรับผู้หญิงควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และไม่ควรตกแต่งด้วยเครื่องประดับและเครื่องสำอาง ตลอดจนใส่น้ำหอมมากจนเกินไป ไม่ควรแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บจนเกินงาม
           - เหตุที่ควรปฏิบัติเช่นนี้เพราะวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม คนไปวัดเพื่อทำบุญ ทำจิตใจให้สงบ จึงควรตัดเรื่องปรุงแต่งกิเลสเหล่านี้ออกไปเสียก่อน
        2. การนำเด็กหรือบุคคลอื่นๆ ไปวัด
          -  เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีแก่เด็ก เพราะทำให้เด็กได้ใกล้ชิดพระศาสนา ตั้งแต่อยู่ในวัยอันสมควร แต่มีข้อระวังคือ อย่านำเด็กอ่อนไปวัดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจก่อให้เกิดความรำคาญ หรือในกรณีที่เด็กซุกซน อาจจะส่งเสียงดังรบกวนสมาธิของผู้อื่นที่ต้องการความสงบ
          - ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องนำบุคคลอื่นๆ เช่น พนักงานขับรถหรือคนรับใช้ไปวัดด้วย ก็ควรเปิดโอกาวให้เขาได้ร่วมทำบุญด้วย และกวดขันเรื่องกิริยามารยาทและการแต่งกาย การขับรถเข้าไปในบริเวณวัด ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้แตร การเร่งเครื่องยนต์เสียงดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พระกำลังสวด และการจอดรถก็ควรจอดให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่ทางวัดได้กำหนดไว้
       3. การเตรียมอาหารไปวัด
           อาหารที่เหมาะสมสำหรับการนำไปถวายพระภิกษุนั้น ควรเป็นอาหารที่เรารับประทานกันทั่วไป คือ ปรุงจากพืช ผัก หรือเนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แต่ควรระมัดระวังอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ อันได้แก่
1. เนื้อมนุษย์ 
2. เนื้อช้าง
3. เนื้อม้า 
4. เนื้อสุนัข
5. เนื้องู 
6. เนื้อราชสีห์
7. เนื้อเสือโคร่ง 
8. เนื้อเสือเหลือง
9. เนื้อเสือดาว 
10. เนื้อหมี       
      อย่านำอาหารที่ปรุงจากเนื้อดิบๆ เลือดดิบๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เช่น ปลาดิบ กุ้งดิบ ฯลฯ จนกว่าจะทำให้สุกด้วยไฟ นอกจากนั้น ไม่ควรนำอาหารที่ปรุงด้วยสุราที่มีสีหรือกลิ่นหรือรสปรากฏชัดไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และอย่าฆ่าสัตว์โดยจำเพาะเจาะจงว่าจะนำเนื้อนั้นไปทำอาหารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
     4. การเตรียมตัวก่อนไปวัด อาจจะทำได้ดังนี้ คือ    
           1. จัดทำภารกิจของตนให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นที่กังวล
           2. ทำจิตใจให้แจ่มใส โดยการระลึกถึงบุญกุศลและคุณงามความดีที่เคยได้ทำมาแล้ว
           3. รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์
    
     5. การปฏิบัติตนโดยทั่วไปภายในวัด
          วัดเป็นที่รวมของคนหลายประเภทซึ่งแตกต่างกันมาก ทั้งอายุ ฐานะ และความเป็นอยู่ การศึกษา อาชีพ ตลอดจนนิสัยใจคอ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังสำรวมตน โดยปฏิบัติดังนี้
          1. สำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย งดอาการคะนองด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้เพื่อให้กาย วาจา ใจ ของเราเหมาะสมที่จะบำเพ็ญบุญกุศล
          2. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
          3. ควรนั่งให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่กำหนดไว้
          4. ในการประกอบศาสนพิธี เช่น สวดมนต์ สมาทานศีล ถวายสังฆทาน ฯลฯ ควรเปล่งเสียงอย่างชัดเจนโดยพร้อมเพรียงกัน
          5. เมื่อมีสิ่งใดทำให้ขุ่นข้องหมองใจ เช่น อากาศร้อน กระหายน้ำ เห็นหรือได้ยินกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมของคนอื่น หรือการไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องต่างๆ ขอให้อดทนและแผ่เมตตา ให้ความเห็นอกเห็นใจทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้เกิดโทสะขึ้นได้
         6. การสนทนากับพระ ในการสนทนากับพระนั้น หากเป็นผู้ชายไม่ค่อยมีระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัดนัก เพียงแต่ให้ตระหนักว่าเป็นการสนทนากับพระ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของสังคม มีเพศ คือ สถานะทางสังคมเหนือกว่าตน 





3. การประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง
       วิธีปฏิบัติตนและพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
     -  ตอนเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
ตอนค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
      - นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 6 วัน ดังกล่าวแล้วยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” เป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป การปฏิบัติตนวันธรรมสวนะ หรือวันพระ คือ
      - ชาวพุทธที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระ คือ เมื่อถึงวันพระ ชาวพุทธก็ไปทำบุญที่วัด เตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโต พร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัด
ชาวพุทธไปรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 จะค้างที่วัด ชาวพุทธจะไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด นิยมสวมชุดสีขาว เพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดสุภาพเรียบร้อย


ที่มา :http://www.nayoktech.ac.th/~amon/in7.html
        : http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/performance.html:

บทที่ 13 การนั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิ



        สมาธิ คือ การทำสมาธิ คือการทำเพื่อให้จิตใจนั้นสงบ หลีกเร้นจากความฟุ้งซ่านสับสนในชีวิตประจำวัน และเป็นการเตรียมพลัง เหมือนเราชาร์ตแบตตอรี่ในเวลากลางคืนแล้วพอตอนเช้าก็เอาไปใส่โทรศัพท์มือถือ ทำให้ใช้งานได้ไปตลอดวัน

       การทำสมาธิ ไม่ได้นั่งเพื่อจะเห็นอะไร ไม่ได้นั่งเพื่อถอดจิตไปไหน แต่นั่งเพื่อให้ใจสงบ ให้สติกินข้าว สติจะได้มีแรง       การนั่งสมาธิ มี 2 จุดประสงค์
          1. นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ได้พักจิตใจ นั่งโดยการดูลมหายใจ ตั้งจิตอยู่ที่รูจมูก สังเกตลมที่กระทบตอนเข้าและออก บางคนบริกรรมด้วย เมื่อจิตสงบ บางทีคำบริกรรมจะหายไป ก็ให้หายไป บางทีสงบจนลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนไม่ได้หายใจ การนั่งให้จิตสงบอย่างนี้ เรียกสมถะภาวนา
          2. วิปัสสนา เป็นการดูจิตเพื่อเจริญปัญญา จิตจะเจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา โดยก่อนหน้านั้นผู้ปฏิบัติเพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงวิธีปฏิบัติที่ละเอียดมาก จึงจะถึงขั้นนี้ได้ หลักการดูจิตขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ศึกษาจากหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลักของท่านว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
การนั่งสมาธิเบื้องต้น
        1.กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีลห้า หรือศีลแปด เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง
        2.คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบายๆ ระลึกถึงความดีที่ได้กระทำไว้ดีแล้วในวันนี้ ในอดีต และที่จะตั้งใจทำต่อไปในอนาคต จนราวกับว่า ร่างกายทั้งหมดประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วนๆ
       3.นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่พอดี ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบกล้ามเนื้อตาหรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น วางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกายและใจว่า กำลังเข้าไปสู่สภาวะแห่งความสงบ สบายอย่างยิ่ง
      4.นึกกำหนดนิมิต เป็น ดวงกลมใส ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ ปราศจากรอยตำหนิใดๆ ขาวใส เย็นตา เย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้เรียกว่า บริกรรมนิมิต นึกสบายๆ นึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวล เป็นพุทธานุสติว่า สัมมา อะระหัง หรือค่อยๆน้อมนึกดวงแก้วกลมใสให้ค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกายตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่หนึ่งเป็นต้นไป น้อมนึกอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ไปพร้อมๆกับคำภาวนา
       อนึ่ง เมื่อนิมิตดวงกลมใสปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบายๆกับนิมิตนั้น จนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ หากดวงนิมิตนั้นอันตรธานหายไป ก็ไม่ต้องนึกเสียดาย ให้วางอารมณ์สบาย แล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้นปรากฏที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์กลางกาย ให้ค่อยๆน้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับ และเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาวดวงเล็กๆอีกดวงหนึ่ง ซ้อนอยู่ตรงกลางดวงนิมิตดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็กๆตรงกลางนั้นไปเรื่อยๆ ใจจะปรับจนหยุดได้ถูกส่วน เกิดการตกศูนย์และเกิดดวงสว่างขึ้นมาแทนที่ ดวงนี้เรียกว่า ดวงธรรม หรือ ดวงปฐมมรรค อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน การระลึกนึกถึงนิมิตสามารถทำได้ในทุกแห่งทุกที่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือขณะทำภารกิจใดๆ


การนั่งสมาธิเบื้องต้น

เทคนิคเบื้องต้นในการนั่งสมาธิ

     1. หลับตาเบาๆ ผนังตาปิด 90%
     2. อย่าบังคับใจ เพียงตั้งสติ วางใจเบาๆ ณ ศูนย์กลางกาย กำหนดนิมิตเป็น

ดวงแก้วใสๆ...เบาๆ
องค์พระใสๆ...เบาๆ
ลมหายใจ เข้า-ออก...เบาๆ
อาการท้อง พอง-ยุบ...เบาๆ
เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

    3. กำหนดนิมิต นึกนิมิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกุศโลบายล่อใจให้เข้ามาตั้งมั่นในกาย
    4. เมื่อใจเข้ามาหยุดนิ่งในกาย การกำหนดนิมิตก็หยุดโดยอัตโนมัติ
    5. รับรู้การเปลี่ยนแปลงภายในกายและจิตใจ ด้วยความสงบ
    6. อยู่ในความดูแลของกัลยาณมิตรอย่างใกล้ชิด




หลักการฝึกสมาธิ (การนั่งสมาธิ)

       1. น้อมใจมาเก็บไว้ ณ ศูนย์กลางกาย แต่ละครั้งเก็บใจไว้ให้นานที่สุด จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยมีใจตั้งมั่นภายใน
       2. มีสติกำกับใจตลอดเวลา ทำให้ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส รู้ธรรมารมณ์ใดๆ (เช่น ในคำสรรเสริญ เยินยอ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ฯลฯ)
       3. ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ และตรงเวลาเป็นประจำ
       4. มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถจริง คอยควบคุม ให้คำแนะนำ อย่างใกล้ชิด


ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
      
     หากเราได้ฝึกสมาธิอยู่เป็นประจำแล้ว ประโยชน์ที่เราจะได้รับก็คือ
        1.ส่งผลให้จิตใจผู้ทำสมาธิผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ จึงช่วยให้หลับสบายคลายกังวล ไม่ฝันร้าย
        2.ช่วยพัฒนาให้มีบุคลิกภาพดีขึ้น กระปรี้กระเปร่า สง่าผ่าเผย มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น รู้สึกควบคุมอารมณ์ จิตใจได้ดีขึ้น เหมาะสมกับกาละเทศะ
       3.ผู้ฝึกสมาธิบ่อย ๆ จะมีความจำดีขึ้น มีการพินิจพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ รอบคอบมากขึ้น ทำให้เกิดปัญญาในการทำสิ่งใด ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเล่าเรียน และการทำงานดีขึ้น
       4.ช่วยคลายเครียด และลดความเครียดที่จะเข้ามากระทบจิตใจได้ เมื่อเราไม่เครียด ร่างกายก็จะหลั่งสารทำให้เกิดความสุข ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะมีภูมิต้านทานเชื้อโรค และยังช่วยชะลอความแก่ได้ด้วย
       5.ทำให้จิตใจอ่อนโยนขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดความประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
       6.ระงับอารมณ์โมโห อารมณ์ร้ายต่าง ๆ ได้ เพราะการฝึกสมาธิช่วยให้จิตสงบนิ่งมากขึ้น และเมื่อจิตสงบนิ่งแล้วจะมีพลังยับยั้งการกระทำทางกาย วาจา ใจได้
       7.มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิจะมีความดันอัตราการหายใจลดลง หัวใจเต้นช้าลง คลื่นสมองช้าและเป็นระเบียบขึ้น การเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้มีสุขภาพดี และช่วยบำบัดโรคได้ โดยเฉพาะหากปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังกาย



ที่มา : http://www.dmc.tv/pages/meditation/meditation06.html

บทที่ 12 มารยาทชาวพุทธ

มารยาทชาวพุทธ



         มารยาท หมายถึง ระเบียบแบบแผน หรือขอบเขตอันเป็นข้อจำกัดที่บุคคลพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขทั้งแก่ตนเอง และส่วนรวมมารยาทนั้นมุ่งการประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นทางกาย และทางวาจา ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย
        มารยาท และการวางตัวที่เหมาะสม จึงเป็นปราการด่านแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ผ่านการอบรมฝึกฝนตนมาดี มีคุณสมบัติของผู้ดีมีวัฒนธรรมอันเจริญ สามารถยังจิตของผู้พบเห็นให้ยินดีเลื่อมใส นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีความเคารพ อ่อนน้อม ส่งผลให้เกิดความเคารพในพระรัตนตรัย และเคารพในการปฏิสันถารอีกด้วย มารยาทการยืน การเดิน การนั่ง และการนอน


มารยาทชาวพุทธ

1. มารยาทในสังคม
        เป็นสิ่งที่ดีงามในสมัยก่อนนั้น มารยาทชาวพุทธ จะถูกปลูกฝังมาจากครอบครัวและคำสอนทางพระพุทธศาสนา จนนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางศาสนาที่มีลักษณะเฉพาะของชาวพุทธในประเทศไทย วัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย

2. มารยาทในการแต่งการ
     2.1 การแต่งกายไปวัด
           วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวพุทธจึงควรปฏิบัติตนต่อวัดด้วยความสุภาพและความเคารพ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง โดยปฏิบัติดังนี้คือ - ควรแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อยสีเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายหรือสีฉูดฉาด ไม่รัดรูปเพื่อสะดวกในการกราบไหว้ และทำสมาธิ - วัดมิใช่ที่ที่คนจะแต่งตัวไปอวดความร่ำรวยกัน วัดควรเป็นที่เราไปเพื่อขัดเกลากิเลสมากกว่า จึงไม่ควรแต่งกายให้หรูหราล้ำสมัยใส่เครื่องประดับรุงรัง ไม่ควรใส่น้ำหอมที่มีกลิ่นรุนแรงจะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน - บุรุษควรแต่งกายเรียบร้อย ไม่ปล่อยชายเสื้อ ทรงผมตัดสั้นหรือหวีเรียบร้อย ไม่ใส่น้ำมันกลิ่นรุนแรงรบกวนผู้อื่น - สตรีไม่ควรแต่งกายแบบวับ ๆ แวม ๆ หรือใส่เสื้อบางจนเห็นเสื้อชั้นใน กระโปรงไม่ควรสั้นจนน่าเกลียด หรือผ่าหน้าผ่าหลังเพื่อเปิดเผยร่างกาย
    2.2 การแต่งกายไปงานมงคล 
         การทำบุญเลี้ยงพระเพื่อความสุขความเจริญแก่จิตใจ เช่น ทำบุญวันเกิด ขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส การแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น ควรแต่งกายดังนี้ - ควรแต่งกายเรียบร้อย สีสวยงามตามสมัยนิยม เหมาะสมกับงาน - ใส่เครื่องประดับพอประมาณ แต่ไม่ควรหรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินพอดี - ขนาดพอดี ลุก นั่งได้สะดวก ไม่น่าเกลียด
การแต่งกายไปงานอวมงคล
   2.3 งานอวมงคล 
         การทำบุญเลี้ยงพระที่เกี่ยวกับเรื่องการตาย นิยมทำกันอยู่ 2 อย่างคือทำบุญ หน้าศพ เรียกว่าทำบุญ 7 วัน 50 วัน หรือ100 วัน และทำบุญอัฐิในวันคล้ายวันตายของผู้ล่วงลับ - ถ้าเป็นงานศพควรเป็นสีขาวหรือสีดำ - ถ้าเป็นวันทำบุญอัฐ ควรแต่งกายเรียบร้อย สีเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายหรือฉูดฉาด จนเกินควร เหมาะสมกับงาน ไม่ใส่เครื่องประดับหรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินพอดี

3. มารยาทในการยืน


การยืนตามลำพัง

          ขาทั้งสองข้างชิดกัน หรืออยู่ในท่าพักแขน ปล่อยแนบลำตัวหรือจะประสานไว้ข้างหน้าเล็กน้อย จะยืนเอียงข้างนิดหน่อยก็ได้ แต่ต้องให้อยู่ในท่วงที ที่สง่างามอย่ายืนขากาง แกว่งแขน หันหน้าไปมา ลุกลี้ลุกลนหรือหลุกหลิก ล้วงกระเป๋า แคะ แกะ เกา เป็นต้น

การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่

           ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรยืนตรงหน้าผู้ใหญ่ แต่ควรยืนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ดังนี้คือ ยืนตรง ขาชิดปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองแนบชิดข้าง ท่าทางสำรวม
           การประสานมือทำได้ 2 วิธี
               1. คว่ำมือซ้อนกัน จะเป็นมือไหนทับมือไหนก็ได้
               2. หงายมือทั้ง 2 สอดนิ้วเข้าระหว่างช่องนิ้วของแต่ละนิ้ว


4. มารยาทในการเดิน

      วิธีเดินเข่า 

1. นั่งคุกเข่าตัวตรง มือทั้งสองข้างปล่อยตามสบายอยู่ข้าง ๆ ลำตัว


2. ยกเข่าขวา-ซ้ายก้าวไปข้างหน้าสลับกันไปมา ปลายเท้าตั้งช่วงก้าวของเข่ามีระยะพองาม ไม่กระชั้นเกินไป มือไม่แกว่ง หากผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มเล็กน้อย ขณะเดินเข่าระมัดระวังอย่าให้ปลายขาทั้งสองแกว่งไปมา ขณะก้าวเข่าอย่าให้ปลายเท้าลากพื้นจนมีเสียงดัง

3. เมื่อจะลุกจากการเดินเข่า ให้ชันเข่าข้างหนึ่งข้างใดมาข้างหน้า อีกข้างหนึ่งกดลงไปกับพื้นแล้วยกตัวขึ้นช้า ๆ 


การเดินตามลำพัง


           ให้เดินอย่างสุภาพหลังตรงช่วงก้าวไม่ยาวหรือสั้นจนเกินไป แกว่งแขนแต่พองาม สำหรับผู้หญิงขณะเดินให้ระมัดระวังการแกว่งแขนและสะโพกให้อยู่ในอิริยาบถที่เป็นไปโดยธรรมชาติ การเดินกับผู้ใหญ่ให้เดินไปทางซ้ายค่อนไปทางหลังเล็กน้อยเว้นแต่ต้องเดินในที่จำกัด จึงเดินตามหลังเป็นแถวท่าเดินต้องนอบน้อมช่วงก้าวพองาม อย่าเดินส่ายตัวหรือโคลงศรีษะ
          ในกรณีที่ต้องเดินตามหลังระยะใกล้ ๆ ต้องคอยสังเกตว่า ผู้ใหญ่ที่เดินนำอยู่นั้นจะหยุด ณ ที่แห่งใด จะได้ชลอฝีเท้าลง ป้องกันมิให้เดินชนท่าน

การคลานลงมือ


1. อาวุโสมากและคุ้นเคยกัน ขณะนั่งพื้นหรือเก้าอี้
       1.1 ให้เดินเข่ามาใกล้พอสมควร
       1.2 นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า กราบตั้งมือ 1 ครั้ง
       1.3 เมื่อจะผ่านให้คลานลงมือ ปลายเท้าตั้งกับพื้น
       1.4 ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้นั่งพับเพียบ เก็บปลายเท้ามือประสานบนตัก เมื่อจบการสนทนาให้กราบ ๑ ครั้งแล้วเดินเข่าผ่านไป
       1.5 หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคยกัน ให้ค้อมตัวลงแล้วเดินเข่าผ่านไป ไม่ต้องคลานมือ และไม่ต้องกราบ

การเดินผ่านผู้ใหญ่

2. อาวุโสมาก และคุ้นเคย ขณะยืนอยู่
       2.1 ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้แบบไหว้บิดามารดา ครู อาจารย์หรือผู้มีอาวุโสมากสำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้
       2.2 ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้มือประสานกัน และเมื่อจบการสนทนาให้ไหว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินค้อมตัวเล็กน้อยผ่านไป
       2.3 หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคย ขณะยืนให้ค้อมตัวลงขณะเดิน ไม่ต้องไหว้
3. อาวุโสไม่มากนักแต่คุ้นเคยกัน ขณะนั่งเก้าอี้หรือยืน
       3.1 ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้ แบบไหว้ผู้ที่เคารพนับถือทั่วไป สำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้ เมื่อจะผ่านให้เดินค้อมตัวผ่าน ไม่แกว่งแขนมืออยู่ข้างลำตัว หากท่านทักทายให้ยืนค้อมตัวรับฟังมือประสานกัน เมื่อจบการสนทนาแล้วไหว้อีกครั้ง แล้วค้อมตัวเดินผ่านไป
       3.2 ถ้าไม่คุ้นเคยกันขณะนั่งเก้าอี้หรือยืนอยู่ ให้ค้อมตัวเดินผ่านไป ไม่ต้องไหว้ ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำ และกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่าน

การเดินผ่านหลังผู้อื่น


1. ถ้าอาวุโสกว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะนั่งกับพื้น นั่งบนเก้าอี้หรือยืนอยู่ให้ค้อมตัวลงขณะเดินผ่าน มือทั้งสองข้างแนบลำตัว
2. ถ้าเป็นการเดินผ่านด้านหลังอย่างใกล้ชิดจนถึงต้องเบียดไป ถ้าเป็นผู้อาวุโสมาก ให้ค้อมตัวและไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอโทษก่อนจะเดินผ่าน
3. ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำและกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่านไม่ต้องไหว้ การเดินผ่านผู้ใหญ่
      ข้อควรระวัง         - เมื่อเดินเข้าหาหรือผ่านผู้ใหญ่ ให้อยู่ในอิริยาบถสำรวม ไม่พูดคุยกัน
         - ขณะเดิน ต้องชำเลืองทางไว้เสมอ เพื่อป้องกันการสะดุด หรือชนสิ่งของ
         - อย่าเดินชิดผู้ใหญ่จนเสื้อผ้า, กระเป๋าถือหรือส่วนของร่างกายไปถูกร่างกายของผู้ใหญ่

5. มารยาทในการนั่ง 
        การนั่งพับเพียบ
             เป็นการนั่งที่นิยมกันในหมู่ชาวพุทธ ถือว่าสุภาพเรียบร้อย สวยงามน่าดูน่าชมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาลจนถึงทุกวันนี้ นิยมปฏิบัติประจำทั้งทางโลก และทางธรรม โดยเฉพาะขณะเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่ซึ่งต้องนั่งกับพื้น

        วิธีนั่งพับเพียบ
1.การนั่งพับเพียบขวา ให้นั่งพับขาขวาปลายเท้าขวาหันไปทางด้านหลัง หงายฝ่าเท้าซ้ายขึ้นวาง ขาขวาทับฝ่าเท้าซ้าย หรือเพียงแค่แตะจรดขาขวาบริเวณหัวเข่า ตั้งกายให้ตรงระวังอย่าให้นิ้วเท้าซ้ายเกินหัวเข่าขวาออกมาข้างหน้า (ดังรูป)
2.การนั่งพับเพียบซ้าย ให้นั่งพับขาซ้ายปลายเท้าซ้ายหันไปด้านหลัง หงายฝ่าเท้าขวาขึ้นวาง ขาซ้ายทับฝ่าเท้าขวา หรือเพียงแค่แตะจรดขาขวาบริเวณหัวเข่า ตั้งกายให้ตรง ระวังอย่าให้นิ้วเท้าขวาเกินหัวเข่าออกมาข้างหน้า
วิธีการเปลี่ยนท่านั่งพับเพียบ 



ใช้มือทั้งสองยันที่หัวเข่าทั้งสอง หรือยันพื้นด้านข้างลำตัวหรือด้านหน้า แล้วกระหย่งตัวขึ้นพร้อมกับพลิกเปลี่ยนเท้าพับไปอีกข้างหนึ่ง โดยพลิกเท้า ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ด้านหลังไม่นิยมยกมาผลัดเปลี่ยนทางด้านหน้า

การนั่งขัดสมาธิ


เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายให้ตรงอย่างสบาย ๆ ไม่ยืด ไม่เกร็ง

การนั่งคุกเข่า
      เป็นกิริยาอาการนั่งเตรียมตัว เพื่อจะกราบพระรัตนตรัยแบบเบญจางคประดิษฐ์

วิธีการนั่งคุกเข่า ชาย (อุบาสก)
       นิยมนั่งคุกเข่า ตั้งปลายเท้าทั้งสองยันพื้นไว้ นิ้วเท้าพับลงราบกับพื้น เท้าทั้งคู่แนบชิดสนิทกันนั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่ แยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างกันประมาณ ๑ คืบ อวัยวะที่ยันพื้นจะได้ฉากเป็นรูปสามเส้า เพื่อป้องกันมิให้ล้มได้ง่ายมือทั้งสองวางทอดราบไว้ที่เหนือหัวเข่าทั้งสองให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกัน วางมืออย่างสบาย ๆไม่มีอาการเกร็ง
วิธีการนั่งคุกเข่าหญิง (อุบาสิกา)
       นิยมนั่งคุกเข่าราบ เหยียดหลังเท้าทั้งสองให้ราบกับพื้นไปทางด้านหลังให้ฝ่าเท้าทั้งสองแนบชิดสนิทกัน หรือให้ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อยก็ได้ นั่งทับ ลงบนฝ่าเท้าทั้งสองเข่าทั้งสองชิดกัน มือทั้ง สองวางทอดราบไว้ที่หัวเข่าทั้งสอง ให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกันวางมืออย่างสบาย ๆ ไม่มีอาการเกร็ง

6. มารยาทในการไหว้
      การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา 2 ส่วน คือ การประนมมือและการไหว้
      การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น
      การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล

       ระดับที่ 1  การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก


         ระดับที่ 2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว

         ระดับที่ 3 การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก


7. มารยาทในการกราบ
     การกราบพระ แบบ เบญจางคประดิษฐ์

            การกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุด ต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือสูงสุด ซึ่งก็คือพระนั่นเอง เบญจางคประดิษฐ์ แปลว่า ตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ห้า โดย เบญจ ซึ่งแปลว่า 5 นั้น หมายถึง อวัยวะทั้ง 5 อันได้แก่ หน้าผาก มือทั้งสอง และเข่าทั้งสอง โดยอวัยวะที่ว่านั้น เวลากราบจะต้องจรดลงให้ติดกับพื้น ซึ่งท่านี้จะปฏิบัติแตกต่างกันใน หญิง และ ชาย
        สำหรับชายนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
               - ท่าเตรียม ท่าเตรียมของชายนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพบุตร
               - ท่าเทพบุตร นั่ง คุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้า ไม่นั่งบนเท้า แบบนั่งญี่ปุ่นนะครับ มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ส้นเท้าไม่แบะออก
               - จังหวะที่ 1 อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
               - จังหวะที่ 2 วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
              - จังหวะที่ 3 อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างต่อเข่า ขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่ง หรือ ก้นไม่โด่งจนเกินงาม
             การกราบจะกราบ 3 ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง


         สำหรับหญิงนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
             - ท่าเตรียม ท่าเตรียมของหญิงนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพธิดา
             - ท่าเทพธิดา นั่งคุกเข่าปลายเท้าราบ นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ปลายเท้าไม่แบะออก
             - จังหวะที่ 1 อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
             - จังหวะที่ 2 วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
            - จังหวะที่ 3 อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อย พอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย
            การกราบจะกราบ 3 ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง


8. มารยาททางวาจา
         มารยาททางวาจาก็คือบุคลิกภาพที่ปรากฏในสังคมที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำสำเนียงต่อบุคคลทั่วไป เช่นการใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่พูดเหยียดหยามผู้อื่น การใช้ว่าคำว่ากรุณาเมื่อต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น การกล่าวคำขอโทษเมื่อทำผิดพลาด การกล่าวคำขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือ ไม่ส่งเสียงดังก่อความรำคาญ ไม่พูดจาโอ้อวดตนเอง ใช้สำเนียงการพูดที่นุ่มนวลเป็นกันเอง ฝึกใช้คำราชาศัพท์และใช้เมื่อโอกาสเหมาะสม






ที่มา : http://wattanatipphanong.blogspot.com/
        : http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2127-00/

บทที่ 11 ศาสนาชินโต

ศาสนาชินโต


      ชินโต  เป็นลัทธิตามความเชื่อเดิมของชาวญี่ปุ่น คำว่า ชินโต มาจากตัวอักษรจีน หรือคันจิ 2 ตัวรวมกัน คือ ชิน หมายถึงเทพเจ้า และ โต หมายถึงวิถีทางหรือศาสตร์วิชา หรือ เต๋า ในลัทธิเต๋านั่นเอง เมื่อรวมกันแล้ว จะหมายถึงศาสตร์แห่งเทพเจ้า หรือวิถีแห่งเทพเจ้านั่นเอง
      ปัจจุบันนี้ ลัทธิชินโตถือให้เป็นลัทธิความเชื่อพื้นเมืองประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง พิธีกรรมของลัทธิชินโตนี้มาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นพิธีกรรมอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งพุทธศาสนา ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋าได้เริ่มให้มาในดินแดนญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 พิธีกรรมของลัทธิชินโตได้ถูกบันทึกและบัญญัติเป็นครั้งแรกในคัมภีร์โคะจิคิ และจดหมายเหตุนิฮงโชะกิ ในศตวรรษที่ 8 เพื่อตอบโต้ศาสนาที่มีระดับความพัฒนามากกว่าจากแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม งานเขียนในยุคแรกๆก็ยังมิได้บ่งบอกว่าเป็น ลัทธิชินโตแต่งานเขียนในสมัยต่อมาก็ได้บ่งชี้อย่างชัดเจน พร้อมได้รวมขนบธรรมเนียบของสังคมเกษตรกรรมและเทศกาลประจำปีเข้าไปด้วย รวมไปถึงความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลก (อังกฤษ: cosmogony) และเทพนิยาย (อังกฤษ: mythology) ต่างๆ ซึ่งเล่าถึงต้นกำเนิดของชนชาติญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะหมายถึงเชื้อสายยะมะโตะ (ญี่ปุ่น) และอิสึโมะ (ญี่ปุ่น) ในสมัยนั้น พุทธศาสนาได้แพร่จากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่น และมีผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในลัทธิชินโตและความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา เป็นต้น
       ปัจจุบันนี้ ลัทธิชินโตถูกจัดให้เป็นลัทธิบูชาเทพเจ้าหลายองค์ หรือ พหุเทวนิยม (อังกฤษ: polytheism) และลัทธิบูชาภูตผี (อังกฤษ: animism) ที่เน้นความบริสุทธิ์ของพิธีกรรมเป็นอย่างมาก รวมถึงยกย่องเกียรติและความมีตัวตนของเทพเจ้า (ญี่ปุ่น) ซึ่งมีทั้งเทพเจ้าที่มีมาจากการยกบุคคลให้เป็นเทพ (อังกฤษ: anthropomorphic deity) หรือการบูชาธรรมชาติ และเทพเจ้ายังสามารถมีลูกได้ด้วย ลัทธิชินโตเป็นลัทธิที่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่จะทำให้ศาสนิกชนเข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าได้มากที่สุด ลัทธิชินโตยุคใหม่ไม่มีสถาบันที่ที่ยกตัวเป็นผู้ควบคุมส่วนกลาง มีเพียงแต่กลุ่มคนที่พยายามรักษาวิถีปฏิบัติของลัทธิชินโตมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ชินโตได้ถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งในปัจจุบันชินโตเริ่มลดหายไปจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยที่ยังเห็นได้ในปัจจุบันได้แก่ โอมิคุจิ (ญี่ปุ่น) (การดึงฉลากเสี่ยงโชคในศาลเจ้าชินโต) และการเฉลิมฉลอง งานปีใหม่ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น) ที่มีจัดขึ้นตามศาลเจ้าชินโต
สัญลักษณ์ของศาสนาชินโต   
        1.โทรี ได้แก่ ประตูอันมีเสา 2 เสา มีไม้ 2 อันวางไว้ข้างบน ซึ่งมีประจำอยู่ที่ศาลเจ้าทุกแห่ง เป็นเครื่องหมายการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าเกือบทุกแห่ง(ศาลเจ้าเล็กๆอาจไม่มีโทรี) เป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่บริเวณศาลเจ้าของศาสนาชินโต
          แต่เดิม โทรี คือ คบไม้สำหรับให้นกขึ้นจับเพื่อคาบศพของคนตายไป(สวรรค์) 
        2. กระจก อันมีรูปลายดอกไม้
            ทั้ง 2 สัญลักษณ์นี้พอให้รู้ว่าเป็นศาสนาชินโตได้ในบางกรณี แต่สัญลักษณ์ที่มีมาแต่โบราณเป็นสมบัติสืบทอดมากับบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิ และมีความหมายทางคุณธรรม น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณืว่า นั่นก็คือ สิ่งที่ในภาษาญี่ปุ่นว่า “ซานชูโน-ซิงกิ” อันได้แก่ สมบัติ 3 ประการ คือ
         1.กระจก(ยตะ โน กาคามิ)  เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระสุริยเทพี อมะเตระสุ โอมิคมิ ได้มอบให้หลานชายชื่อ นินิคิโน มิโกโด มาปกครองเกาะญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ กระจกอาจเป็นเครื่องหมายแห่งพระสุริยเทพีก็ได้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ ศาลเจ้าอิเซ
        2.ดาบ(กูสะ นาคิ โนซิรุคิ)  เป็นเครื่องหมายแห่งความกล้าหาญ ในฐานะเป็นการปรากฏแห่งเทพเจ้า ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าอัทสุตะ
        3. รัตนมณี(ยาสะกะนิ โน มาคะ ตามะ) เป็นสัญลักษณ์แห่งการบำเพ็ญประโยชน์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ประจำ ณ พระราชวังแห่งพระจักรพรรดิ
     สรุปแล้วสมบัติทั้ง 3 นี้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง คุณธรรมทั้ง 3 คือ ปัญญา กล้าหาญ และการบำเพ็ญประโยชน์ อันเป็นคุณธรรมสำคัญในศาสนาชินโตนั่นเอง นับว่าเป็นการพัฒนาศาสนาชินโตในด้านคุณธรรมได้เป็นอย่างดี





โทะริอิ ที่ ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ สัญลักษณ์ที่สำคัญของชินโต


คัมภีร์ของศาสนาชินโต     
    คัมภีร์ของศาสนาชินโตที่สำคัญที่สุดมี 2 คัมภีร์ คือ
        1.โกชิกิ คัมภีร์นี้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นในปี ค.ศ. 712(พ.ศ. 1255) แต่เดิมมาท่องจำกันด้วยปากเปล่า เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยจดหมายเหตุเรื่องราวโบราณ เริ่มตั้งแต่กำเนิดพระเจ้า การเริ่มของเกาะญี่ปุ่นที่พระสุริยเทพีเป็นผู้สร้าง เริ่มประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่พระเจ้าจักพรรดิองค์แรกคือ ยิมมู จนถึงพระเจ้าจักรพรรดินีซุยโก(พ.ศ. 1171) นอกจากนั้นยังบรรยายถึงพิธีกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีข้อห้าม การปฏิบัติทางไสยศาสตร์ การปฏิบัติเนื่องด้วยเทพเจ้าของญี่ปุ่นโบราณอย่างพิสดาร   
    2.นิฮอนคิ หรือ นิฮอนโชกิ คัมภีร์นี้รวบรวมขึ้นเป็นอักษรจีน ณ ราชสำนัก ในปี ค.ศ. 720(พ.ศ. 1263) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวความเรื่องพระเจ้าตามเทพนิยายดั้งเดิม จนถึงสมัยจักรพรรดินียีโต(พ.ศ. 1245) รวมเป็นหนังสือ 30 เล่ม 15 เล่มแรกกล่าวถึงเทพนิยายและนิยายเป็นอันมาก ส่วน 15 เล่มหลัง กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
      นอกจากคัมภีร์ทั้ง 2 ดังกล่าว ยังมีคัมภีร์รองๆไปอีกมาก เช่น เยนงิ ซิกิ ที่ว่าบทสรรเสริญและพิธีกรรมในสมัยเยนงิ(พ.ศ. 1444-1566) และ มันโยชู หรือ บูนโยซิว(ชุมนุมแห่งใบไม้หมื่นใบ) ที่ว่าด้วยการเริ่มขึ้นแห่งแผ่นดินสวรรค์ การประชุมของเทพเจ้าหมื่นแสนองค์ เรื่องสุริยเทพี เรื่องสร้างเกาะญี่ปุ่น เรื่องประทานแผ่นดินให้เป็นที่อาศัยของชาวญี่ปุ่น เป็นต้น

หลักคำสอนสำคัญของศาสนาชินโต
    1.ข้อห้ามและข้อแนะนำให้ปฏิบัติให้ได้ 13 ประการ
        1.1 อย่าละเมิดบัญญัติของพระเจ้า    
        1.2 อย่าลืมความผูกพันอันดีต่อบรรพบุรุษ
        1.3 อย่างล่วงละเมิดบัญญัติของรัฐ
        1.4 อย่าลืมความกรุณาอันลึกซึ้งของพระเจ้าที่คอยป้องกันอันตรายต่างๆ
        1.5 อย่าลืมว่าโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน
        1.6 ถ้าใครมาโกรธอย่าโกรธตอบ
        1.7 อย่าเกียจคร้านในกิจการทั้งปวง
        1.8 อย่าเป็นคนติเตียนคำสอน
        1.9 จงทำจิตใจให้ยุติธรรมเพื่อปกครองตนเอง
        1.10 จงกรุณาต่อคนทั้งหลายยิ่งกว่ากรุณาตัวเอง
        1.11 จงคิดอุบายให้เกิดความสุขใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต หาความสุขให้แก่คนทั้งหลาย
        1.12 จงปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความเคารพ
        1.13 จงปฏิบัติตนเป็นพี่น้องของคนทั้งหลาย
   2.วจนะศาสนาชินโต
        -ทั้งสวรรค์และนรกมาจากใจของตนเอง     
        -ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทุกท่านรับพรของสวรรค์ชั้นเดียวกัน
        -อยู่กับเทพเจ้าจะไม่มีกลางวันและกลางคืน ไม่มีทั้งไกลและใกล้
        -ความเชื่อขอให้เป็นเช่นการเชื่อฟังฐานบุตรต่อบิดามารดา
        -เมื่อใจของอมะเตระสุโอมิคมิ และใจของคนทั้งหลายไม่แบ่งแยกกัน ต่อจากนั้นก็จะไม่มีสิ่งเช่นความตาย
 3.การบูชาในศาสนา
        การบูชาในศาสนาชินโตก็คือ การไหว้เจ้า ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้ศาลเจ้า เพียงแต่งตัวให้สะอาด เข้าไปโค้งคำนับหน้าศาลเจ้า หลับตา ตบมือ เรียกดวงวิญญาณมารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็ยืนเข้าสมาธินิ่งๆ อยู่ครู่หนึ่งแล้วค่อยกลับออกไป แต่อาจมีอย่างอื่นๆอีกบ้างตามที่นักบวชหรือผู้เฝ้าศาลเจ้าจะแนะนำให้ทำเครื่องอามิสบูชาที่จะต้องนำไปไหว้ศาลเจ้า มีนักบวชประจำศาลเป็นผู้จัดไว้แล้ว และมีไว้อย่างเดียวกันเหมือนกันหมดทุกศาลเจ้า เครื่องอามิสเหล่านั้นมี เหล้าสาเก 4 ถ้วยเล็กๆ ข้าวปั้น 16 ก้อน เกลือ 16 ก้อน ปลาสด ผลไม้ สาหร่ายทะเล และส้มสูกลูกไม้อีกไม่กี่ลูกนัก ผู้ไปบูชาไม่ต้องเสียเงิน
 4.การปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด
     การปฎิบัติอย่างนี้มี 4 ประการ คือ    
       4.1 มีความคิดแจ่มใส(อากากิ โคโกโระ)
       4.2 มีความคิดบริสุทธิ์สะอาด(คิโยกิ โคโกโระ)
       4.3 มีความคิดถูกต้อง(ทาดาชีกิ โคโกโระ)
       4.4 มีความคิดเที่ยงตรง(นาโอกิ โคโกโระ)

   ใครทำได้อย่างนี้ตายไปจะไปเป็นเทพเจ้า ทั้ง 4 ประการนี้ย่อเข้าให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงคำเดียวว่า เซอิเมอิ-ชิน
  5.คำสอนจริยศาสตร์อื่นๆ เช่น
        -ให้พูดแต่คำสัตย์จริง      
        -ให้รู้จักประมาณความพอดี
        -ให้ละเว้นโทสะ
        -ให้มีความกล้าหาญในทางดี
        -ให้งดเว้นจากความโกรธ
        -ให้เป็นคนมีมุทิตาจิตมีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

พิธีกรรมของศาสนาชินโต


    1.พิธีบูชาในศาสนา
ในศาสนาชินโตมีการบูชาคือการไหว้เจ้า การไหว้เจ้าของญี่ปุ่นไม่ต้องเสียหมูเห็ดเป็ดไก่เหล้ายา แล้วเอามากินกันเหมือนชาวจีน ชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้เจ้า เพียงแต่เตรียมการโดยแต่งตัวให้สะอาด แล้วเข้าไปโค้งคำนับตรงหน้าศาลเจ้าซึ่งมีมากมายหลายแห่ง มีอยู่เกือบ 200,000 แห่ง จะมี โทรี(ประตูวิญญาณ) เป็นเครื่องหมาย แผ่นดินแห่งศาลเจ้าก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อคำนับแล้ว ก็หลับตาตบมือ เรียกดวงวิญญาณ มารับการกราบไหว้ ถ้าไม่ตบมือก็จะยืนนิ่งๆเป็นสมาธิเฉยๆ สักครู่หนึ่งก่อนกลับออกไป   
    2.พิธีบูชาธรรมชาติ
ชาวญี่ปุ่นคิดว่าธรรมชาติต่างๆบนเกาะญี่ปุ่น เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเทพเจ้า จึงมีฐานะควรแก่การเคารพบูชา ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร แม่น้ำลำธาร แผ่นดิน พรรณพฤกษา ต้นไม้ใบหญ้าสัตว์ป่า และของศักดิ์สิทธิ์สูงส่งขององค์จักรพรรดิ คือ กระจกเงา ดาบ และอัญมณี ซึ่งถือว่าเป็นเทวสมบัติ มีวิญญาณที่เทพเจ้าประทานมา ล้วนแต่ควรแก่การเคารพบูชาทั้งนั้น ชาวญี่ปุ่นมีความรักธรรมชาติ สงวนป่าไม้ ภูผา พงไพร พืชน้อยใหญ่เสมือนชีวิตของตน
    3.พิธีบูชาปูชนียบุคคล
      -การบูชาวีรชน เรื่องความรักชาติ ชาตินิยม เทิดทูนชาติ ดูเหมือนว่าจะหาชาติใดเสมอเหมือนชาติญี่ปุ่นได้ยาก ใครๆที่แสดงความกล้าหาญ เสียสละชีวิตในสนามรบจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นเทพเจ้าควรแก่การเคารพบูชายิ่ง มีศาลเจ้าชื่อ Yasukuni Shrine เป็นที่รวมวิญญาณของวีรบุรุษและวีรสตรีนิรนามของชาติ แต่ละปีมีรัฐพิธีบูชาดวงวิญญาณผู้กล้าหาญเหล่านี้เป็นประจำเสมอมา$ 

      -การบูชาองค์จักรพรรดิ ชาวญี่ปุ่นถือว่าองค์จักรพรรดิ หรือองค์มิกาโด หรือ เทนโน(Mikado,Tenno) เป็นผู้สืบเชื้อหายมาจากดวงอาทิตย์ตลอดมาโดยไม่ขาดสาย องค์จักรพรรดิญี่ปุ่นเท่ากับเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ ญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันหมด ชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ จึงยกย่องเทิดทูนเคารพบูชาองค์จักรพรรดิยิ่งกว่าชีวิต     -การบูชาบรรพบุรุษ มีผู้กล่าวว่าการบูชาบรรพบุรุษญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับของจีนแล้ว จะเห็นว่าของญี่ปุ่นจะสูงกว่าและศักดิ์กว่า ดูจะจริง เพราะญี่ปุ่นยอมรับว่าองค์จักรพรรดของตนสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า เป็นการสืบสายไม่มีขาดช่วง และองค์จักรพรรดิเท่ากับหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ จึงเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันเป็นเชื้อสายสืบต่อมาจากองค์จักรพรรดิที่เป็นเหล่ากอของเทพเจ้า ความเป็นบรรพบุรุษ จึงติดต่อกันมาเป็นสายเลือดเดียวกัน จึงมีการบูชาบรรพบุรุษทั้งของครอบครัวแต่ละครอบครัว และบรรพบุรุษในครอบครัวรวมอันหมายถึงชาติญี่ปุ่นโดยรวมด้วย 
     4.พิธีเกี่ยวกับเด็กทารกเกิดใหม่
อายุได้ 7 วัน ก็จะมีการอุ้มไปตั้งชื่อต่อหน้าแท่นบูชา ทำพิธีรับขวัญเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ 31 หรือ 32 วัน ก็จะอุ้มเด็กไปไหว้ศาลเจ้านอกบ้านตามวัดบ้าง ตามภูเขาบ้าง ตามประเพณีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดหรือตาย จะนิมนต์นักพรตมาทำพิธี หากไม่มีหรือหานักพรตไม่ได้ หัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง

     5.พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์
เมื่อวันนักขัตฤกษ์มาถึง ชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ นักพรตมีหน้าที่ทำพิธีอ่านบทสวดเบื้องหน้าแท่นบูชาที่ศาลเจ้าเพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ให้เก็บเกี่ยวได้ผลดี ให้บ้านเรือนมีความสุข ให้มีผลสำเร็จในการออกรบทัพจับศึก ให้การปกครองเป็นไปด้วยดี และให้องค์จักรพรรดิทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติยิ่งยืนนาน
    6.พิธีโอโฮฮาราซิ 
เป็นพิธีชำระครั้งยิ่งใหญ่ โดยมหากรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิผู้รับมอบหมายอำนาจมาจากเทพเจ้า อะมะเตระสุ โอมิคมิ ให้ประกอบพิธีด้วยการประพรม(การชำระล้าง) ด้วยน้ำบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น แล้วเซ่นสรวงสังเวยอันเป็นไปเพื่อการทดแทน(บาป) บรรดามุขมนตรีและพลเมืองของพระองค์ผู้กระทำพิธีนี้ ต้องทำความบริสุทธิ์ให้เกิดแก่ตนเองเพื่อปลดบาปออกไปให้พ้นจากตน
นิกายสำคัญของศาสนาชินโต   
   ศาสนาชินโตมีนิกายจำนวนมาก แต่เมื่อจัดประเภทใหญ่แล้วมี 2 นิกาย คือ
         1.ชินโตของรัฐ(State Shinto) หรือก๊กกะชินโต เป็นนิกายที่ทางราชการรับรองและอุปถัมภ์ ควบคุมดำเนินการแบบราชการ จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นักบวชเป็นคนของทางราชการ จะเที่ยวไปทำพิธีให้ใครต่อใครไม่ได้ จะต้องทำกิจอยู่เฉพาะศาลเจ้า และห้ามมิให้โฆษณากิจการใดๆ นิกายนี้เน้นหนักถึงความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ต่อมาได้ขยายคำสอนส่งเสริมให้คนกล้าหาญ สร้างหลักชาตินิยมอย่างรุนแรงตามแบบบูชิโด และเมื่อปีที่ 15 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิเมยีมีพระบรมราชโองการ จากสวรรค์ มายังกองทัพทุกเหล่ามีความสำคัญว่า ให้รักชาติ รักความกล้าหาญ จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ แม้ชีวิตก็สละได้ ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ให้ถือว่าเท่ากับบัญชาจากสวรรค์ ตั้งแต่นั้นมาทหารญี่ปุ่นก็ได้รับเกียรติมาก ใครทำร้ายทหารไม่ได้ ทหารก็กลายเป็นตุ๊กตาไขลาน คอยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาทุกอย่าง แต่ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2488 นายพลแมคอาเธอร์ผู้ยึดครองเกาะญี่ปุ่น ได้ออกประกาศล้มเลิกชินโตแห่งรัฐและไม่ยอมให้ศาลเจ้าอิเซเป็นศูนย์กลางแห่งความเคารพของศาสนาชินโตอีกต่อไป(ศาลเจ้าอิเซสร้างโดยเจ้าชายโตโยสุกิอิริฮามะ ในรัฐกาลซูยิน ประมาณ พ.ศ. 573) อาจจะเพราะเห็นว่าทำให้คนฮึกเหิมในการรบโดยเชื่อมั่นในเทพเจ้าก็ได้ นิกายนี้ได้แสดงถึงความกลมกลืนกันระหว่างศาสนากับการเมืองที่เรียกในภาษาญี่ปุ่น “ไซเซอิ-อิทซิ” มีการใช้คำว่า โกโด(ทางแห่งพระจักรพรรดิ) เพื่อทำให้ความหมายคำว่าชินโตของรัฐชัดเชนขึ้น และมีความเด่นกว่าความหมายทั่วไปของคำว่า ชินโตโดยส่วนรวม
        2.ชินโตของราษฎร์(Sectarian Shinto) หรือ ระโยหะชินโต เป็นนิกายที่ประชาชนนับถือแตกต่างกันไป นิกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งนิกายต่างๆอีกมากมาย ซึ่งได้ก่อเกิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พอจะจัดเป็นนิกายใหญ่ๆได้ 13 นิกาย โดยแบ่งเป็นนิกายชินโตบริสุทธิ์ดั้งเดิมแต่โบราณ 3 นิกาย เป็นนิกายที่รวมเอาศาสนาอื่น เช่น พุทธ ขงจื๊อ ที่เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นเข้าผสมผสานกับศาสนาชินโต มี 5 นิกาย และเป็นนิกายที่ทำให้บริสุทธิ์และรักษาโรคด้วยความเชื่อ โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่ผู้ตั้งนิกายใหม่ทั้งชายและหญิง มี 5 นิกาย

บทบาทของศาสนาชินโตต่อสังคม     
     1.ช่วยให้สังคมได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยการบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า
     2.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีความรักชาติเป็นชีวิตจิตใจ   
     3.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นเป็นคนกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ขยันเป็นเยี่ยม
     4.ช่วยให้สังคมรักความสะอาด 
     5.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของตนโดยเฉพาะ
     6.ช่วยให้สังคมญี่ปุ่นมีความภักดีต่อผู้ปกครอง และเคารพกฎบัญญัติของประเทศ เพราะมีศาสนาและการเมืองดำเนินไปอย่างกลมกลืนกันและกัน