วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 14 หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่ชาวพุทธ



        หน้าที่ของชาวพุทธมีมากมายที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ นอกจากการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ แล้วยังต้องช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนตลอดไป หน้าที่ของชาวพุทธในที่นี้จะต้องเรียนรู้เรื่องของศรัทธา 4 อันเป็นความเชื่อที่กระกอบด้วยเหตุผล วัดซึ่งเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนา โดยเฉพาะเน้นเรื่องการไปวัด ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ที่วัดเพื่อจะทำให้ชาวพุทธมีความรู้และปฏิบัติตนได้ถูกต้องเหมาะสมดังนี้     
   1.ศรัทธา 4 
        1.1  กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
       1.2  วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
       1.3  กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
       1.4  ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้


       องค์ประกอบของศรัทธา 4
         หลักศรัทธาหรือความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผลในทางพุทธศาสนาที่ถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่ต้องปฏิบัติมี 4 ประการคือ
           1. เชื่อกรรม (กัมมสัทธา) กรรมแปลว่า การกระทำ เชื่อกรรมก็คือ เชื่อว่าการกระทำมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าทำอะไรโดยเจตนาย่อมเป็นกรรม เป็นความดีความชั่วที่เกิดขึ้นในตัวคนและจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยก่อให้เกิดผลดีและผลร้ายสืบเนื่องต่อไป ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่สูญเปล่า คือไม่เกิดผลและเชื่อว่าผลที่ต้องการนั้น จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำหรือกรรมนั่นเอง เช่น เราตีตุ๊กแกตายเพราะไม่ชอบ ถือเป็นกรรม แต่ถ้าเราเลื่อนตู้ไปทับตุ๊กแกตาย จะถือว่าไม่ใช่กรรมก็ได้ ผลของการเชื่อกรรม จะทำให้คนไม่งอมืองอเท้า รอแต่โชคชะตา เพราะผลของความสำเร็จเกิดจากการกระทำ
           2. เชื่อผลของกรรม (วิปากสัทธา) คือเชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริงทั้งผล โดยตรง ผลที่ได้รับภายหลังและผลพลอยได้ เช่น เราปลูกมะพร้าวก็จะได้ผลมะพร้าว ทำบุญก็ได้ความสบายใจซึ่งเป็นผลโดยตรง แต่ถ้าเราค้ายาบ้าผลที่ตามมาคือ ทำลายผู้อื่น ติดคุกและถ้าเรา เป็นคนดี ไม่พูดเท็จไม่คิดร้ายผู้อื่นผลพลอยได้ก็คือ มีคนรัก มีคนนับถือ เป็นต้น การกระทำต้องมีผลและผลมาจากเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากการกรรมชั่วหรือพูดง่าย ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง
           3. เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน (กัมมัสสกตาสัทธา) คือเชื่อว่าคนแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง กรรมหรือการกระทำที่ใครทำคนนั้นเป็นเจ้าของกรรม จะต้องเป็นทายาทผู้รับผิดชอบเสวยผลของกรรมนั้น จะยกให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของแล้วรับผลแทนกันไม่ได้ เช่น ผู้ชายที่เจ้าชู้ชอบผิดลูกเมียผู้อื่น เมื่อเขามีลูกสาว หลายคนคิดว่ากรรมจะตกไปถึงลูกสาวเขาโดยจะถูกคนอื่นหลอกลวง ซึ่งไม่ถูกตามหลักธรรมข้อนี้ เพราะพ่อทำพ่อก็จะได้รับผลเอง
          4. เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) คือเชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้ตรัสรู้จริง รู้แจ้งเห็นสัจธรรมจริงเพราะพระธรรมและวินัยที่มีอยู่ ก็ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติจริง จึงถือว่าพระองค์ตรัสรู้จริง ซึ่งศรัทธา 3 ข้อแรกรวมอยู่ในข้อ 4 ก็ได้ เพราะพระองค์ทรงสั่งสอน 3 ข้อแรกด้วย ดังนั้น ถ้าเชื่อในปัญญาของพระองค์ก็ต้องเชื่อคำสั่งสอนของพระองค์ด้วย

2. การไปวัด
         หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่ดี คือ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการไปวัดเพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องดังนี้      
  1. การแต่งกายไปวัด
           - ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ถ้ามีลายก็เป็นลายเรียบๆ เนื้อผ้าไม่ควรโปร่งบางจนเกินไป ไม่หรูหราจนเกินไป เสื้อผ้าไม่ควรหลวมหรือรัดรูปจนเกินไป เพื่อความสะดวกในการกราบไหว้พระและนั่งสมาธิ
           - สำหรับผู้หญิงควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และไม่ควรตกแต่งด้วยเครื่องประดับและเครื่องสำอาง ตลอดจนใส่น้ำหอมมากจนเกินไป ไม่ควรแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ทาเล็บจนเกินงาม
           - เหตุที่ควรปฏิบัติเช่นนี้เพราะวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม คนไปวัดเพื่อทำบุญ ทำจิตใจให้สงบ จึงควรตัดเรื่องปรุงแต่งกิเลสเหล่านี้ออกไปเสียก่อน
        2. การนำเด็กหรือบุคคลอื่นๆ ไปวัด
          -  เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีแก่เด็ก เพราะทำให้เด็กได้ใกล้ชิดพระศาสนา ตั้งแต่อยู่ในวัยอันสมควร แต่มีข้อระวังคือ อย่านำเด็กอ่อนไปวัดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจก่อให้เกิดความรำคาญ หรือในกรณีที่เด็กซุกซน อาจจะส่งเสียงดังรบกวนสมาธิของผู้อื่นที่ต้องการความสงบ
          - ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องนำบุคคลอื่นๆ เช่น พนักงานขับรถหรือคนรับใช้ไปวัดด้วย ก็ควรเปิดโอกาวให้เขาได้ร่วมทำบุญด้วย และกวดขันเรื่องกิริยามารยาทและการแต่งกาย การขับรถเข้าไปในบริเวณวัด ควรระมัดระวังในเรื่องการใช้แตร การเร่งเครื่องยนต์เสียงดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พระกำลังสวด และการจอดรถก็ควรจอดให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่ทางวัดได้กำหนดไว้
       3. การเตรียมอาหารไปวัด
           อาหารที่เหมาะสมสำหรับการนำไปถวายพระภิกษุนั้น ควรเป็นอาหารที่เรารับประทานกันทั่วไป คือ ปรุงจากพืช ผัก หรือเนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แต่ควรระมัดระวังอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ อันได้แก่
1. เนื้อมนุษย์ 
2. เนื้อช้าง
3. เนื้อม้า 
4. เนื้อสุนัข
5. เนื้องู 
6. เนื้อราชสีห์
7. เนื้อเสือโคร่ง 
8. เนื้อเสือเหลือง
9. เนื้อเสือดาว 
10. เนื้อหมี       
      อย่านำอาหารที่ปรุงจากเนื้อดิบๆ เลือดดิบๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เช่น ปลาดิบ กุ้งดิบ ฯลฯ จนกว่าจะทำให้สุกด้วยไฟ นอกจากนั้น ไม่ควรนำอาหารที่ปรุงด้วยสุราที่มีสีหรือกลิ่นหรือรสปรากฏชัดไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และอย่าฆ่าสัตว์โดยจำเพาะเจาะจงว่าจะนำเนื้อนั้นไปทำอาหารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
     4. การเตรียมตัวก่อนไปวัด อาจจะทำได้ดังนี้ คือ    
           1. จัดทำภารกิจของตนให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นที่กังวล
           2. ทำจิตใจให้แจ่มใส โดยการระลึกถึงบุญกุศลและคุณงามความดีที่เคยได้ทำมาแล้ว
           3. รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์
    
     5. การปฏิบัติตนโดยทั่วไปภายในวัด
          วัดเป็นที่รวมของคนหลายประเภทซึ่งแตกต่างกันมาก ทั้งอายุ ฐานะ และความเป็นอยู่ การศึกษา อาชีพ ตลอดจนนิสัยใจคอ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังสำรวมตน โดยปฏิบัติดังนี้
          1. สำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย งดอาการคะนองด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้เพื่อให้กาย วาจา ใจ ของเราเหมาะสมที่จะบำเพ็ญบุญกุศล
          2. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
          3. ควรนั่งให้เป็นระเบียบในสถานที่ที่กำหนดไว้
          4. ในการประกอบศาสนพิธี เช่น สวดมนต์ สมาทานศีล ถวายสังฆทาน ฯลฯ ควรเปล่งเสียงอย่างชัดเจนโดยพร้อมเพรียงกัน
          5. เมื่อมีสิ่งใดทำให้ขุ่นข้องหมองใจ เช่น อากาศร้อน กระหายน้ำ เห็นหรือได้ยินกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมของคนอื่น หรือการไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องต่างๆ ขอให้อดทนและแผ่เมตตา ให้ความเห็นอกเห็นใจทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้เกิดโทสะขึ้นได้
         6. การสนทนากับพระ ในการสนทนากับพระนั้น หากเป็นผู้ชายไม่ค่อยมีระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัดนัก เพียงแต่ให้ตระหนักว่าเป็นการสนทนากับพระ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของสังคม มีเพศ คือ สถานะทางสังคมเหนือกว่าตน 





3. การประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง
       วิธีปฏิบัติตนและพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
     -  ตอนเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
ตอนค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
      - นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 6 วัน ดังกล่าวแล้วยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” เป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป การปฏิบัติตนวันธรรมสวนะ หรือวันพระ คือ
      - ชาวพุทธที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระ คือ เมื่อถึงวันพระ ชาวพุทธก็ไปทำบุญที่วัด เตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโต พร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัด
ชาวพุทธไปรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 จะค้างที่วัด ชาวพุทธจะไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด นิยมสวมชุดสีขาว เพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดสุภาพเรียบร้อย


ที่มา :http://www.nayoktech.ac.th/~amon/in7.html
        : http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/performance.html:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น